ดีพร้อม ดึงโตโยต้าฯ นำคาราคูริ ไคเซน ยกระดับธุรกิจชุมชนเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและลดต้นทุน พร้อมชูต้นแบบเครื่องทุ่นแรงให้กลุ่มผู้สูงอายุ หวังเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 40 ล้านบาท
8 เม.ย. 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(ดีพร้อม) เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือ (DIPROM Connection) ผนึกกำลังกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)สู่ชุมชน เพื่อยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่ธุรกิจชุมชนครอบคลุมทุกมิติ ดึงกลไกคาราคูริ ไคเซน (Karakuri Kaizen) เพิ่มประสิทธิภาพ กระบวนการผลิตและลดต้นทุน หวังเพิ่มศักยภาพธุรกิจชุมชนผ่านแนวคิดชุมชนเปลี่ยน พร้อมชูต้นแบบเครื่องลำเลียงกล้วยหอมทองให้แก่กลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด จ.ชุมพร ที่สามารถเป็นเครื่องทุ่นแรงให้กลุ่มผู้สูงอายุได้ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 40 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้สามารถผลิตและส่งออกอาหารได้หลายประเภท อีกทั้ง ยังมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในระบบการผลิตภาคเกษตรเพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อกระบวนการแปรรูปในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การพัฒนาภาคเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ จึงมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิต หรือแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และยกระดับศักยภาพการแข่งขันภาคเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากข้อสั่งการของ รมว.อุตสาหกรรม ดีพร้อม ได้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชุมพร และได้รับทราบข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด จ.ชุมพร ผู้ผลิตและส่งออกกล้วยหอมทองปลอดสารพิษไปยังประเทศญี่ปุ่น ว่าปัจจุบันได้ประสบปัญหาการลำเลียงกล้วย เนื่องจากทางกลุ่มมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และการลำเลียงกล้วยมีลักษณะที่ใช้เป็นรางลาก ซึ่งต้องใช้แรงจำนวนมากในการเคลื่อนย้าย ส่งผลให้กระบวนการผลิตเกิดความล่าช้าและไม่เป็นไปตามกำลังการผลิตที่ควรจะเป็น จึงมีความต้องการขอรับการสนับสนุนด้านกระบวนการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น รวมถึงระบบการผลิต ลำเลียง และคัดแยกกล้วยหอมทองควบคู่กับการใช้แรงงานคนอีกด้วย
ทั้งนี้ ดีพร้อม จึงเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและบูรณาการความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพรเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัดผ่านโครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตกล้วยหอมทอง โดยการนำหลักการคาราคูริ (Karakuri) ซึ่งเป็นระบบกลไกอัตโนมัติที่ใช้หลักกลศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ หรือกระบวนการผลิตกล้วยหอมทองของกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด อันจะช่วยผ่อนแรงการทำงานได้เป็นอย่างดี
ซึ่งหลักการทำงานของคาราคุริ (Karakuri) ในการลำเลียงกล้วยจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้แรงในการลากทำให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตกล้วยหอมทองจากเดิมใช้ระยะเวลาการลำเลียงกล้วยหอมทอง 400 เครือ ต่อ 8 ชั่วโมง มาเป็นลำเลียงได้ 400 เครือ ต่อ 4 ชั่วโมง แทน รวมถึงสามารถลดเวลา ช่วยในการผ่อนแรงสำหรับสมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุ และเป็นไปตามมาตรฐานเพื่อการส่งออก ช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้กว่าร้อยละ 30 – 50 ต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรในหลักสูตร “คาราคุริและการประยุกต์ใช้งาน การดูแลบำรุงรักษา” เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย
'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท
'ชัยชนะ' จี้ 'คค.-อก.' ต้องคุมเข้มมาตรฐานความปลอดภัย!
'ชัยชนะ' มองเหตุการณ์ไฟไหม้รถโรงเรียน 'คค.-อก.' ต้องสอบมาตรฐานให้ดีขึ้น บอก ทัศนศึกษา ไม่ใช่ต้นเหตุ แต่ต้องควบคุมยานพาหนะเยอะขึ้น