“คลัง” ดีเดย์สัปดาห์หน้าชงกาสิโนเข้า ครม. ตั้งเป้าเป็น Entertainment Complex ดึงเอกชนลงทุนแสนล้านบาท เล็งผุดคณะกรรมการ 2 ชุดดูแล ปัดล็อกสเปคปักหมุดอู่ตะเภา แจงเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ฝันดึงดิสนีย์แลนด์-ยูนิเวอร์แซล ผุดฮอล์คอนเสิร์ต ร่วมลงขันได้
1 เม.ย. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เปิดเผยว่า คลังจะเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับ ครม.ว่าจะมีการถกเถียง หรือมีข้อสั่งการเพิ่มเติมอย่างไร และจะมอบหมายให้หน่วยงานใดรับผิดชอบโครงการ เพื่อมาลงในรายละเอียด โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่จะมาเป็นตัวกำกับ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อไป
“เท่าที่ได้มีการพูดคุยกันนอกรอบกับ ครม. ก็พบว่าหลัก ๆ มีสัญญาณที่ดี ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเพียงการขึ้นโครงไว้ว่าจะต้องมีการดำเนินการอย่างไรต่อ จะต้องปรับแก้อะไรบ้าง โดยเฉพาะกฎหมายลูกที่เกี่ยวเนื่อง และสุดท้ายกลไกของกฎหมายจะต้องส่งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อแปร” นายจุลพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการให้ข้อเสนอว่าจำเป็นจะต้องมีหน่วยงานแยกออกมาเพื่อดูแล Entertainment Complex โดยเป็น 2 ระดับ คือ 1. ระดับคณะกรรมการดูแลนโยบาย ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรี และครม.หลายคนร่วมด้วย เพื่อดูแลในเรื่องการบริหาร และ 2. คณะกรรมการระดับส่วนราชการ แต่จะไม่ใช่องค์กรอิสระมากำกับดูแล
ส่วนกระแสข่าวลือที่ระบุว่ามีการล็อกสเปคพื้นที่อู่ตะเภาเพื่อสร้าง Entertainment Complex นั้น เป็นเรื่องเพ้อเจ้อที่พูดกันไป คิดกันไปเอง นั่งคิดนั่งฝันกันไป แล้วมีคนไปลงทุนซื้อที่ซื้ออะไร มองว่าอาจจะโดนหลอกหมด โดยยืนยันตั้งแต่ครั้งแรกแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ และรัฐบาลไม่ได้มีการล็อกสเปคพื้นที่ เพราะสุดท้ายต้องรอกลไกของกฎหมายทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อนจึงจะสามารถเดินหน้าได้ และตอนนี้กลไกทั้งหมดยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า คาดว่าเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนา Entertainment Complex ต่อแห่งไม่น่าจะต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนรายได้ตอบแทน เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่แต่ละปีรัฐบาลสิงคโปร์จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีและรายได้ในรูปแบบอื่น ๆ ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ไทยเองไม่ได้มีจุดที่ด้อยกว่า โดยรัฐบาลมองว่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นนี้ จะเป็นการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม
ทั้งนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบในการจัดตั้งทั้งหมดยังไม่มี เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการหารือ แต่เบื้องต้นมองว่า Entertainment Complex เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ก็น่าจะมีโอกาสที่จะเปิดให้เป็นการลงทุนในรูปแบบบริษัท จำกัด (มหาชน) เพราะต่างประเทศก็เป็นรูปแบบดังกล่าวและอยู่ในตลาดทุนขนาดใหญ่ทั้งนั้น ส่วนจะเป็นการลงทุนจากนักลงทุนไทยหรือนักลงทุนต่างชาติ อยู่ที่ความเหมาะสม แต่ว่าถ้าผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับผ่านการลงทุน ที่จะคืนมาในรูปแบบภาษีต่าง ๆ ถ้าคุ้ม รัฐบาลก็พร้อมจะพิจารณาทั้งหมด
“ประเด็นสำคัญคือ การให้ใบอนุญาต หรือ ไลเซนส์ จะต้องโปร่งใส และยุติธรรม โดยจะเป็นกาสิโนไม่เกิน 5% ของพื้นที่ ส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวประเภทอื่น ๆ เพื่อดึงดูดคนเข้ามา เรื่องนี้ประเทศไทยพูดกันมา 30-40 ปีแล้ว แต่ไม่เคยเดินหน้า และการยกร่างกฎหมาย ก็ต้องมีกลไกในการกำกับหลายอย่าง เช่น เรื่องกองทุนที่จะมาเยียวยา การพัฒนาการศึกษา การช่วยเหลือพัฒนาชุมชนในพื้นที่กลไกกำกับในเรื่องการสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึง เช่น บุคคลที่อาจจะไม่มีความพร้อมในด้านการเงินที่ไม่มีความเหมาะสมที่จะเข้าไปเล่น ตรวจดูเรื่องรายได้การเสียภาษี หรือมีการเก็บค่าเข้าสำหรับคนในประเทศ เช่น สิงคโปร์เก็บค่าเข้า 4-5 พันบาทต่อคนต่อวัน และยังมีกลไกกำหนดว่า ครอบครัวสามารถส่งเรื่องเข้ามาเพื่อที่จะยับยั้งการเข้าไปเล่นของคนในครอบครัวได้ด้วย” รมช.การคลัง ระบุ
นอกจากนี้ มองว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีสถานที่จัดงานที่มีความพร้อม เช่น ก่อนหน้านี้ไทยมีคอนเสิร์ต Bruno mars ในสังคมโซเชียลของไทยมีการพูดกันเยอะว่า สถานที่จัดงานยังไม่มีความพร้อม ตรงนี้อาจถึงจุดที่สามารถบอกได้ว่าไทยจำเป็นต้องทำ Entertainment Complex แต่ต้องมีการพัฒนาประกอบเข้ามาด้วย เช่น อาจจะพัฒนาเป็น Indoor Stadium ขนาดใหญ่ ความจุด 5-6 หมื่นคน และอาจจะต้องกำหนดว่าในพื้นที่ดังกล่าวต้องมีธีมพาร์ค มีสวนสนุกขนาดใหญ่ ต้องมีดีสนีย์แลนด์ ต้องเป็นยูนิเวอร์แซล ทุกอย่างทำได้หมด เหล่านี้ถือเป็นการพัฒนาประเทศดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุนอมสินมาใช้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' เปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ ลงทะเบียน
รัฐบาล เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมเปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อลงทะเบียน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ
'เจ๊ไหม' จี้ถามปฏิรูปภาษี-ล้วงทุนสำรอง 'จุลพันธ์' ยก OECD ที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิกเป็นต้นแบบ!
'ศิริกัญญา' จี้ถาม 'ปฏิรูประบบภาษี' บอก ฟังแล้วเหนื่อยไม่มีเป้าหมาย 'จุลพันธ์' แย้งบอกเป็นแนวทางศึกษา ระบุ 'ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง' แค่เดินหน้าไป เหน็บเอาใจยากพอสมควร
ครม.เคาะแพ็กเกจใหญ่ช่วยเหลือ 'ลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี'
ครม. อนุมัติชุดใหญ่! จัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผู้ประกอบการ SMEs มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นแน่