กพท.รับ “รถไฟเชื่อมสามสนามบิน” กระทบแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบิน หลังยังไร้ข้อยุติจุดเชื่อมต่อสถานีกับเทอร์มินัลใหม่ จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ด้าน UTA เชื่อโครงการเกิดขึ้นแน่นอน ส่วน “กองทัพเรือ“ ฟุ้ง 30 รายแห่ซื้อซอง ภายในปี 67 ได้ผู้รับเหมา
30 มี.ค. 2567 – นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยภายในงานเสวนา “เช็กความพร้อมอุตสาหกรรมการบิน รองรับการบินใหม่ในอนาคต” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งยอมรับตอนนี้โครงการมีความล่าช้า เนื่องจากติดปัญหาความชัดเจนและข้อสรุปในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ส่งผลให้บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีอู่ตะเภากับอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ จึงยังไม่สามารถส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ได้
“การมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ไม่ใช่แค่อู่ตะเภาอย่างเดียว แต่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเกี่ยวกับรายละเอียดของสามสนามบินทั้งระบบ การไม่มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะทำให้ไม่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในการเข้าถึงสนามบินมีอุปสรรค แต่ก็มั่นใจว่าถ้ากรณีที่โครงการสะดุดติดขัด รัฐบาลจะหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้เดินหน้าตามแผนได้” นายสุทธิพงษ์กล่าว
ด้าน นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA กล่าวว่า ในการดำเนินการพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังใหม่นั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามยืนยันว่าโครงการดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ขณะที่ นาวาเอก รตน วันภูงา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา วงเงินโครงการ 15,200 ล้านบาท ว่า ความล่าช้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนั้นไม่กระทบต่อการดำเนินโครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 เนื่องจากมีเพียงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้รันเวย์เท่านั้น ซึ่งสามารถมาดำเนินการภายหลังได้
ส่วนความคืบหน้าโครงการดังกล่าว ขณะนี้มีเอกชนมาซื้อซองประมูลกว่า 30 ราย โดยกองทัพเรือมีกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 20 พ.ค.2567 คาดได้ตัวผู้รับเหมาภายในปลายปี 2567 และเริ่มก่อสร้างทันที โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี จะดำเนินการติดตั้งพร้อมทดสอบระบบประมาณ 1 ปี และจะเปิดใช้งานภายในปี 2571
ขณะที่ แหล่งเงินในการลงทุนโครงการนี้ ได้รับทุนจากเงินกู้ของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือAIIB สัดส่วน 85% ของต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้าง และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจะต้องจัดให้มีกองทุนคู่สัญญา 15% อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 0% เท่านั้น นำไปใช้กับการจัดหาเงินทุนของ AIIB และรูปแบบการประมูลจะดำเนินการผ่านการประกวดราคาแบบนานาชาติ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลโอ่ผลงานยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเชื่อมโยงอีอีซี
รัฐบาลยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เชื่อมโยงอีอีซี ล่าสุดกรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.3481 ตอน บ้านหัวไผ่ - การเคหะฯ จังหวัดปราจีนบุรี แล้วเสร็จ
'พิชัย' ชวนนักธุรกิจ นักลงทุน สหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี - แลนด์บริดจ์
'พิชัย' เปิดเวทีชวนนักธุรกิจ นักลงทุนสหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี แลนด์บริดจ์ พร้อมเจรจาปักหมุดให้ไทยอยู่ในโฟกัสชาวโลก