พาณิชย์ เผยผลการสำรวจดัชนีค่าครองชีพโลก ต้นปี 67 ที่สำรวจโดยเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง พบไทยอยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 5 ในอาเซียน เหตุได้รับผลดีจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐ และราคาสินค้าปรับลดลง จับตาราคาน้ำมัน ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และบางมาตรการช่วยเหลือสิ้นสุด อาจกระทบต่อค่าครองชีพ แนะปรับตัว วางแผนใช้เงิน
29 มี.ค. 2567 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า Numbeo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง ได้จัดทำดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกช่วงต้นปี 2567 พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทยอยู่ที่ 36% ต่ำกว่าดัชนีเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ ที่ใช้เป็นฐานเท่ากับ 100% โดยอยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ถือว่าอยู่ระดับต่ำ โดยลดลงจาก 40.7 % หรืออยู่อันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลกในปี 2566
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีค่าครองชีพของไทยลดลง มาจากดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในร้านขายของชำ (Groceries Index) อยู่ที่ 41% ลดลงจาก 42% ในปี 2566 ซึ่งใช้สินค้าในตะกร้าในการคำนวณดัชนี อาทิ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ขนมปัง ผัก และผลไม้ โดยสินค้าในตะกร้าดังกล่าวมีน้ำหนักมากที่สุดในการใช้คำนวณดัชนี ราคาปรับลดลง และมีทิศทางที่สอดคล้องกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร อาทิ เนื้อสัตว์ และผักและผลไม้ ที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วง 2 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) ที่ลดลง 0.94% และดัชนีราคาอาหารในร้านอาหาร (Restaurant Price Index) อยู่ที่18.4% ลดลงจาก 21% ในปี 2566 ซึ่งใช้สินค้าในตะกร้าในการคำนวณดัชนี อาทิ เซ็ตอาหารฟาสต์ฟู้ด เบียร์ท้องถิ่น เบียร์นำเข้า และน้ำอัดลม รวมทั้งยังมีสินค้าในหมวดการเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และสาธารณูปโภค ที่นำมาใช้คำนวณดัชนีค่าครองชีพลดลง แต่ Numbeo ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลตัวเลขดัชนี
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทย อยู่ที่ 36% สูงเป็นอันดับที่ 5 จาก 9 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ โดยค่าครองชีพของไทยสูงกว่าฟิลิปปินส์ 33.6% อันดับ 104 จาก 146 ประเทศทั่วโลก เวียดนาม 30.8% อันดับ 113 มาเลเซีย 30.5% อันดับ 115 และอินโดนีเซีย 28.5% อันดับ 126 ขณะที่ค่าครองชีพของไทยต่ำกว่ากัมพูชา 38.5% อันดับ 88 เมียนมา 38.6% อันดับ 87 บรูไน 50.5% อันดับ 48 และสิงคโปร์ ซึ่งมีค่าครองชีพสูงที่สุดในอาเซียนอยู่ที่ 81.9% สูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ลดลงจาก 85.9% ในปี 2566 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเนื้อที่ขนาดเล็ก และมีจำนวนประชากรหนาแน่น ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าครองชีพอยู่ระดับสูง โดยประชากรในสิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายรายบุคคลเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1,510.8 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 40,000 บาท)
สำหรับประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.เบอร์มิวดา สูงขึ้น 133.6% ชะลอตัวจาก 141.8% ในปี 2566 คาดว่าด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องการเพาะปลูก การผลิต และต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ประกอบกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงที่สุดในโลก 2.สวิตเซอร์แลนด์ 112.2% ชะลอตัวจาก 114.2% ในปี 2566 ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน การผลิตเภสัชภัณฑ์ นาฬิกา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มีระบบสวัสดิการที่ดี ทัศนียภาพของประเทศมีความโดดเด่นและสวยงาม อีกทั้งการเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ จึงเป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าครองชีพจึงอยู่ในระดับสูง และ 3.หมู่เกาะเคย์แมน สูงถึง 111.7% จาก 103.4% ในปี 2566 โดยหมู่เกาะเคย์แมนเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ถูกจัดว่าร่ำรวยที่สุดในโลก มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน และด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับสูง
ส่วนประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ปากีสถาน อยู่ที่ 18.5% จาก 18% ในปี 2566 เนื่องจากปากีสถานเผชิญปัจจัยท้าทายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาหนี้สินที่อยู่ระดับสูง การคอร์รัปชัน และความไม่มั่นคงทางอาหาร ปัญหาดังกล่าวได้กดดันต่อกำลังซื้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำ 2.ไนจีเรีย 19.3% ลดลงค่อนข้างมากจาก 30.9% ในปี 2566 โดยไนจีเรีย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างอ่อนแรงลงจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ โควิด-19 การขาดแคลนอาหาร และปัญหาความยากจนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงกดดันให้ค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำ และ 3.ลิเบีย 21.2% ลดลงจาก 24.2% ในปี 2566 เป็นที่น่าสังเกตว่าลิเบียมีความเปราะบางทางการเมือง โดยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยระดับสูงสุด และเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ซึ่งอาจเป็นผลให้ค่าครองชีพในประเทศอยู่ระดับต่ำ
“ระดับค่าครองชีพของไทยเมื่อเทียบกับ 146 ประเทศทั่วโลก ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยได้รับผลดีจากมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ และการขยายโอกาสในการประกอบอาชีพ แต่ก็ต้องจับตาราคาน้ำมัน ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐของไทยที่จะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจกระทบให้ค่าครองชีพของไทยเพิ่มสูงขึ้นได้ ผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น โดยวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุม ประหยัด และพอเพียง”นายพูนพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม การจัดทำดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ดังกล่าว คำนวณจากค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) ซึ่งสำรวจข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งใช้เป็นฐานอยู่ที่ 100%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พาณิชย์เผยดัชนีค่าขนส่งสินค้าทางถนน Q4 ขยับขึ้น
ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 4 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยขณะที่อุทกภัยกระทบต่อธุรกิจการขนส่งสินค้าทางถนนไม่มาก
“พาณิชย์” รับลูก นายกฯ “ดูแลประชาชน” ลุยตรวจ ”ปั๊มน้ำมัน -ขนส่ง-สนามบิน“ ย้ำ ขอให้ประชาชนมั่นใจ เดินทางราบรื่นช่วงปีใหม่
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบเข้มสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ครอบคลุมทุกการเดินทางของประชาชน ทั้งการตรวจสอบมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ได้น้ำมันเต็มลิตร-เน้นย้ำผู้ประกอบการตามสถานีขนส่งปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน-
“สุชาติ” รมช. พาณิชย์ ยืนยันไม่ได้หายไปไหน เดินหน้าผลักดันส่งออก ชี้ ต้องการทำให้ FTA มีประโยชน์สูงสุด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า “ตนได้ทำงานในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาได้เดินหน้าทำงานต่อเนื่อง สร้างผลงานดันเจรจา FTA
“พิชัย” คิกออฟ New Year Mega Sale 2025 ลดราคาสินค้า-บริการ 4 หมื่นรายการ สูงสุด 80% เป็นของขวัญปีใหม่
“พิชัย” คิกออฟโครงการ “พาณิชย์ลดราคา New Year Mega Sale 2025” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยทั้งประเทศ ผนึกกำลังผู้ผลิต
พาณิชย์คลอดมาตรการ ‘อนุญาตให้นำเข้า' ก่อน ‘ห้ามนำเข้า’ เศษพลาสติก
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศออกกฎกำหนดมาตรการนำเข้าเศษพลาสติก 2 ฉบับ เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมและป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยเป็นการดำเนินการตามนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566