นโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจ

ใครที่ติดตามความเป็นไปของบ้านเมือง จะตระหนักดีว่าประเทศเรามีปัญหามาก ทั้งเรื่องการเมืองเศรษฐกิจและสังคม ทําให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศมีข้อจำกัดและไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งน่าเสียดายมาก เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่ไม่ได้คลาดแคลนทรัพยากร มีพื้นที่ บุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และความพร้อมหลายด้าน เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงที่จะเติบโต

25 มี.ค. 2567 – แต่ที่ประเทศไม่สามารถเดินหน้าหรือพัฒนาได้เท่าที่ควร สาเหตุสำคัญมาจากการทำนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ที่นโยบายของหลายรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างจริงจังเหมือนประเทศอื่น ทําแต่เรื่องเดิมๆ เรื่องประจํา ปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ หรือทําโครงการตามกระแสเพื่อเรียกความสนใจและผลทางการเมือง ไม่มุ่งแก้ปัญหาที่ประเทศมีหรือสิ่งที่เศรษฐกิจต้องการ ผลคือประเทศเสียโอกาส ปัญหาไม่มีการแก้ไข เศรษฐกิจขยายตัวต่ำต่อเนื่อง และความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ไม่ดีขึ้น นี่คือสถานะของประเทศขณะนี้และนับวันจะถอยหลังถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เปลี่ยน คือไม่ยอมแก้ปัญหาที่ประเทศมีทั้งที่ทำได้ เป็นตัวอย่างของประเทศที่ทําร้ายตัวเองไปสู่ความล้มเหลว นี่คือประเด็นที่จะเขียนให้คิดวันนี้

ในทางเศรษฐกิจ ปัญหาประเทศเราขณะนี้คือเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ เป็นผลจากที่เศรษฐกิจไม่มีการลงทุนเพียงพอโดยภาครัฐและเอกชน การผลิตของประเทศจึงไม่พัฒนาไม่มีนวัตกรรม ขณะที่กําลังแรงงานของประเทศขาดคุณภาพและทักษะ ทำให้การส่งออกไม่สามารถแข่งขันได้ ประเทศจึงต้องพึ่งการท่องเที่ยวในการหารายได้ ที่สำคัญเศรษฐกิจที่โตต่ำทําให้คนส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการทํางาน เติบโต และหารายได้ ต้องพึ่งการดูแลจากภาครัฐ ความเหลื่อมล้ำในประเทศจึงสูงและความยากจนเพิ่มขึ้น ความอ่อนแอเหล่านี้นำไปสู่ความอ่อนไหวในสังคมและระบบราชการทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การทุจริตคอร์รัปชั่น และความสมานฉันท์ นี่คือปัญหาของประเทศ

ชัดเจนว่าปัญหาเหล่านี้ถ้าไม่แก้ไข โอกาสที่ประเทศจะดีขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้น และความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นทั่วหน้าก็คงยาก เป็นหน้าที่ของภาครัฐ คือรัฐบาลและข้าราชการประจําในฐานะผู้ทําและขับเคลื่อนนโยบาย ที่จะต้องนําการแก้ปัญหา ซึ่งต้องทำในสามเรื่อง หนึ่ง กระตุ้นเศรษฐกิจให้โมเมนตั้มการขยายตัวของเศรษฐกิจเดินต่อไม่ติดขัด สอง แก้ปัญหาระดับโครงสร้างเพื่อลดข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและปูทางให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างเข็มแข้ง สาม ให้ผู้ที่อ่อนแอและด้อยโอกาสในสังคมได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงตามควร

นี่คือสามเรื่องที่นโยบายเศรษฐกิจต้องให้ความสำคัญที่ตรงกับปัญหาที่ประเทศมี เพื่อปลดปล่อยเศรษฐกิจออกจากข้อจำกัดที่มีอยู่ และสร้างโอกาสให้ประชาชนนำประเทศไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และสำคัญสุดคือ การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ เช่นปฏิรูปการศึกษาให้ผู้ที่จบการศึกษามีความรู้และทักษะตรงกับความต้องการของภาคการผลิตปัจจุบัน ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ทั้งหมดเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ ปฏิรูปคุณภาพแรงงาน คือเสริมความรู้ความสามารถและทักษะให้กับกําลังแรงงานของประเทศที่จะสนับสนุนการลงทุนและการเติบโตของภาคการผลิต ปฏิรูประบบราชการคือ ลดจำนวน ข้อจำกัด และเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางานของระบบราชการเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ปฏิรูปการแข่งขันคือ ลดการผูกขาดเพื่อเปิดกว้างให้กลไกตลาดสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือสิ่งที่นโยบายเศรษฐกิจทำได้และควรทำเพื่อปลดล๊อคให้เศรษฐกิจเติบโตและประชาชนมีโอกาส

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายรัฐบาลที่ผ่านมาคือนโยบายเศรษฐกิจไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ หรือไม่จริงจัง การปฏิรูปดูเป็นสิ่งที่ภาครัฐไม่สนใจ เน้นใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกจ่ายช่วยเหลือ และทําโครงการใหม่ที่ฟังแล้วดูดีแต่อาจไม่จำเป็นในแง่เหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือเร่งด่วนเทียบกับการแก้ปัญหาที่ควรทํา ผลคือปัญหาที่ประเทศมีไม่มีการแก้ไข เศรษฐกิจจึงมีข้อจำกัดที่จะเติบโต ไปไหนไม่ได้ไกล เหมือนรถยนต์ที่ควรต้องซ่อมใหญ่แต่ไม่ทํา เอาแต่เติมน้ำมัน

ที่น่ากลัวและมีมากขึ้นระยะหลังทั้งที่ทําไปแล้วและกําลังคิดทําคือนโยบายเศรษฐกิจแบบอํานาจนํา คือคิดเร็วทำเร็ว หวังผลระยะสั้นเพื่อสร้างความนิยม ไม่ค่อยมีเหตุมีผลและไม่สนใจผลระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นทั้งในแง่บิดเบือนกลไกตลาดและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ทําลายสิ่งที่ควรมีในกฏหมาย ผลประโยชน์ขัดแย้ง ความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตคอรัปชั่น ความเสี่ยงต่อเอกภาพประเทศ และความปลอดภัยของประชาชน แบ่งได้เป็นสี่กลุ่ม หนึ่ง ผ่อนคลายกฎระเบียบที่มีอยู่ให้อ่อนลงโดยใช้อํานาจหน่วยงาน เช่น ยืดเวลาปิดสถานบันเทิง สอง ทําสิ่งผิดกฏหมายให้ถูกกฎหมาย สาม ใช้อํานาจรัฐโอนถ่ายสมบัติรัฐหรือของหลวงมาเป็นของส่วนตัวโดยใช้ขั้นตอนระบบราชการ และ สี่ สร้างโครงการลงทุนขึ้นมาโดยใช้ทรัพยากรรัฐเพื่อหวังหาประโยชน์หรือหวังผลทางการเมือง

เหล่านี้คือตัวอย่างของการใช้อํานาจที่ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจ เพราะไม่แก้ปัญหาที่ประเทศมีหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอในสังคม แต่เป็นสิ่งที่นักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องคิดขึ้นและต้องการทําเพื่อเป้าหมายอื่นภายใต้ร่มเงามาตรการเศรษฐกิจของรัฐ ทําให้ทั้งรัฐบาลในสายตานักลงทุนดูไม่ดี ถูกเข้าใจผิดและเสียหาย ที่สำคัญชี้ให้เห็นถึงช่องว่างที่มีมากระหว่างนโยบายเศรษฐกิจที่เศรษฐกิจต้องการและควรทำ กับนโยบายเศรษฐกิจที่นักการเมืองทํา พูดง่ายๆคือไปกันคนละทาง

คําถามคือทําไมนักการเมืองไม่ทํานโยบายเศรษฐกิจอย่างที่ควรทำ เพื่อประโยชน์ของประเทศและส่วนรวมในฐานะที่เป็นนักการเมือง เป็นผู้แทนประชาชน เรื่องนี้ผมไม่มีคําตอบและคิดว่าผู้จะตอบเริ่องนี้ได้ดีสุดคือนักการเมือง แต่ถ้าจะให้ผมให้ความเห็น ผมอยากฝากข้อสังเกตุดังนี้

คนเราในแต่ละที่มาในแต่ละอาชีพจะถูกหล่อหลอมด้วยวิธีคิดหรือ Mindset ที่ต่างกัน และวิธีคิดที่หล่อหลอมแต่ละคนก็จะติดกับตัวไปทั้งชีวิต เช่น นักธุรกิจจะถูกหล่อหลอมด้วยวิธีคิดของการแสวงหากำไร มองทุกอย่างเป็นโอกาสทางธุรกิจ เป็นกำไรขาดทุน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทําอะไร จะคิดแต่เรื่องเงินเรื่องผลตอบแทน สําหรับนักการเมืองวิธีคิดคืออำนาจ การแสวงหาอำนาจและรักษาอำนาจ หายใจเข้าออกเป็นอำนาจ ไม่สนใจเรื่องอื่น เพราะอํานาจคือที่มาของผลประโยชน์และความสามารถที่จะควบคุมคนอื่นให้ทําในสิ่งที่ตนเองหรือผู้มีอํานาจต้องการ ถือเป็นจุดสูงสุดของการใช้อำนาจ อำนาจจึงหอมหวลเหมือนยาเสพติด มีแล้วติด วางไม่ลง ต้องมีต่อ

ด้วยข้อสังเกตนี้ เราจึงเห็นนักการเมืองส่วนใหญ่เมื่อมีอำนาจจะเปลี่ยนไป จะไม่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ต่อประเทศหรือส่วนรวมอย่างที่ประชาชนอยากเห็น จะพูดเรื่องนี้มากก็ตอนหาเสียง นโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศอย่างจริงจังจึงไม่เกิดขึ้น ซึ่งน่าเสียดาย และที่ต้องระวังมากคือกรณีที่อำนาจตกอยู่ในมือนักการเมืองและนักธุรกิจที่เป็นคณะเดียวกันหรือเป็นคนคนเดียวกัน เพราะจะเเสวงหาทั้งอํานาจและกำไร บนต้นทุนของประเทศ

ถ้าจะถามว่าเราพอมีความหวังหรือหวังได้หรือไม่ว่าสิ่งต่างๆจะดีขึ้น นโยบายเศรษฐกิจจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่แก้ปัญหาทําให้ความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศดีขึ้น ผมคิดว่าความหวังมี เพราะในโลกเราเห็นหลายตัวอย่างของนักการเมืองที่เป็นผู้นําประเทศเป็นผู้นําสังคมแท้จริงที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทําให้ประเทศและสังคมดีขึ้น ก็หวังว่าเวลาจะมาถึงที่สังคมไทยจะได้ผู้นําแบบนี้ ตรงกันข้ามก็ต้องตระหนักว่า ประเทศอาจล้มเหลวถ้าความไม่ดีต่างๆรุนแรงมากขึ้นและปัญหาไม่มีการแก้ไข จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องรู้ตัวและพร้อมออกโรงป้องกันไม่ให้สถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นว่านี้เกิดขึ้น

เขียนให้คิด

ดร บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน