“ธปท.” ปักหมุดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 0.9% คาดโอมิครอนเริ่มแผลงฤทธิ์ครึ่งแรกของปี 2565 แจงไทยยังไม่เหมาะเกาะเทรนด์ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เหตุเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว
30 ธ.ค. 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวตามเป้าหมายที่ระดับ 0.9% แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่ประเมินว่าจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/2565 มากกว่า ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค. 2564 ทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประเมินในเบื้องต้นว่า การระบาดของโอมิครอนจะส่งผลกระทบในครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวมากนัก เนื่องจากมองว่านักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า ขณะที่ผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ได้รวมเข้าไปในการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2565 ที่ 3.4% เรียบร้อยแล้ว
“มองว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของการระบาดได้ โดยมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยน่าจะยังมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์การระบาดได้ แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เนื่องจากการระบาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” นางสาวชญาวดี กล่าว
นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า ธปท. ยืนยันว่ายังให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังนั้นในแง่ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น อาจจะต้องพิจารณาสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แม้ว่าปัจจุบันหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมหลัก อยู่ในภาวะแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ก่อน แต่ในส่วนของไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ อาจต้องใช้เวลา ดังนั้นแม้หลายประเทศจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไทยก็อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นตาม เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่างกัน
ขณะที่การดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อยนั้น ที่ผ่านมาได้มีการออกมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และในระยะข้างหน้าก็มีการปรับมาตรการให้ยืดหยุ่นมากขึ้น จากสถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในระยะต่อไป และช่วยให้มีภาระหนี้สอดคล้องกับรายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค. 2564 นั้น ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ปัญหา supply disruption ทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบ ชิ้นส่วนการผลิต และตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า ปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นหลังการเปิดประเทศ
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายจ่ายเงินโอน ส่วนอุปสงค์ที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับดีขึ้น ขณะที่ปัญหา supply disruption ทั้งการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และการขนส่งสินค้าทยอยคลี่คลายลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ประกอบกับราคาพลังงานยังทรงตัวในระดับสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ศิริกัญญา' งง รอมา 2 เดือน นโยบายกระตุ้นศก.ไม่มีอะไรชัดเจน ย้อนถามแจกเงินหมื่นช่วยอะไรได้
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า
‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า