เปิดวิสัยทัศน์ 'เทพรัตน์' ผู้ว่า กฟผ.คนที่ 16 กับ 5 แนวทางสร้างองค์กรสู่ความมั่นคง

หลังจากรอคอยมาอย่างยาวนาน ถึงความชัดเจนของการแต่งตั้งผู้ที่จะเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีชื่อของ ‘นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ มาคงค้างการแต่งตั้งอยู่หลายเดือน แต่ล่าสุดหลังจากการประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 ก็ได้มีมติเห็นชอบการยืนยันเสนอชื่อให้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. (คนที่ 16) อย่างเป็นทางการ โดยผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เรียบร้อย

และหลังจากเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ว่าการฯ ก็เดินหน้าลุยทำงานเต็มที่ ซึ่งล่าสุดได้ออกมาเปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงานหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ 1. การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนสูง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ กฟผ. จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก อาทิ 

ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง

2. บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า LNG เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า ส่วนประชาชนที่เสียประโยชน์ควรได้รับการชดเชย นอกจากนี้ กฟผ. ยังสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้

ทั้งนี้ กฟผ. ยังให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อนำไปสู่ข้อ 3. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจนซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย

สำหรับกรณีนโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ. ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อที่ 4 ในแผนกาดำเนินงานนั้น ในเบื้องต้นจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถดำเนินการได้ทันที

และข้อ 5. เนื่องจาก กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ. ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง 

“กฟผ. เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”นายเทพรัตน์ กล่าว

นายเทพรัตน์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความต้องการของ กฟผ. เองในขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) สำหรับงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2567 ใน 3 กรณีผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ว่า กฟผ. ได้นำเสนอแนวทางการคงค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยอยู่ในอัตราปัจจุบันที่ 4.1805 บาทต่อหน่วย โดยแบ่งการจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างให้ กฟผ. 99,689 ล้านบาท ออกเป็น 7 งวด เป็นแนวทางที่ กฟผ. รับได้ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับ กกพ. จะสรุปก่อนประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

“ค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ไม่ควรปรับไปปรับมาบ่อยๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและให้การคิดต้นทุนสินค้าของธุรกิจมีความแน่นอน เพราะถ้าค่าไฟแพงบ้างถูกบ้างจะคำนวณยาก ธุรกิจก็ต้องคิดค่าไฟแพงเป็นต้นทุนไว้ก่อน สุดท้ายต้นทุนนี้ก็จะถูกบวกอยู่ในราคาสินค้าส่งต่อมายังผู้บริโภค ดังนั้นอะไรที่ไม่แน่นอน คือ ความแพง และเมื่อราคาสินค้าปรับขึ้นแล้วก็จะลงยาก ดังนั้นข้อเสนอของ กฟผ. จึงอยากให้ค่าไฟนิ่ง ต่ำ นาน ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย หรือปรับการคำนวณค่าเอฟทีไม่เกินปีละ 1 ครั้งก็ถือว่าเหมาะสม ไม่ใช่ต้องมาลุ้นกันทุกงวด แต่สุดท้ายคนที่ต้องนำไปพิจารณา คือ กกพ. เพื่อประกาศให้ฝ่ายปฏิบัติดำเนินการ”นายเทพรัตน์ กล่าว

สำหรับสภาพคล่องของ กฟผ.ในขณะนี้ถือว่าดีขึ้น หลังจากภาครัฐล็อกค่าก๊าซธรรมชาติเมื่อช่วงปลายปี 2566 โดยให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) รับภาระส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ประกอบกับต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงนี้ลดลง ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. แบกรับภาระต้นทุนคงค้างเหลือ 99,689 ล้านบาท ลดลงจากช่วงปลายปี 2566 อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท หาก กฟผ. ได้รับคืนต้นทุนคงค้าง 7 งวด โดยค่าไฟยังคงอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยตามที่กำหนดชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะยิ่งช่วยลดปัญหาสภาพคล่องได้มากขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง 'นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์' เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16

เอ็กโก กรุ๊ป เร่งเครื่องสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปรับเป้า ปักหมุด Net Zero ปี 2050

เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัย 4D+1E ในยุคเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)

เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า และ วว. ลงนามข้อตกลงความร่วมมือถ่ายทอดงานวิจัยสู่ชุมชน เพื่อส่งเสริมอาชีพและอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน

มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป