20 มี.ค.2567- ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ไหนว่าจะลดค่าตั๋วเครื่องบิน มีเนื้อหาดังนี้
บ่นกันมากว่าค่าตั๋วเครื่องบินภายในประเทศแพงมาก แม้สายการบินโลว์คอสต์ก็ยังแพง รมว.คมนาคมบอกว่าจะให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ปรับวิธีคิดค่าตั๋วเครื่องบินให้ถูกลง ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าค่าตั๋วเครื่องบินจะถูกลงได้อย่างไร ? มีเพียงแค่เพิ่มเที่ยวบินตอนเช้ามืดและตอนดึกดื่นในช่วงสงกรานต์ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
1. ฟังคำชี้แจงของ กพท.
กรณีค่าตั๋วเครื่องบินภายในประเทศแพง กพท. ชี้แจงว่ายังต่ำกว่าค่าโดยสารสูงสุดต่อกิโลเมตรหรือ “เพดาน” ตามประกาศของคณะกรรมการบินพลเรือน พ.ศ. 2561 อีกทั้ง สัดส่วนผู้ซื้อตั๋วแพงมีน้อยกว่าผู้ซื้อตั๋วถูก ซึ่งต้องซื้อล่วงหน้าก่อนการเดินทางนาน ในขณะที่ผู้โดยสารเห็นว่าตั๋วแพง แต่ กพท. แจงว่ายังต่ำกว่าเพดานค่าโดยสาร ดังนั้น จึงต้องหันมาดูเพดานค่าโดยสารต่อกิโลเมตรว่าเหมาะสมหรือไม่ ?
2. หลักเกณฑ์การคำนวณเพดานค่าโดยสารภายในประเทศในปัจจุบัน
คณะกรรมการการบินพลเรือนได้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณไว้เมื่อปี 2561 ดังนี้
(1) ให้ใช้ต้นทุนรวมของผู้ประกอบการ (สายการบิน) ที่มีต้นทุนการให้บริการสูงสุด
(2) ให้ใช้อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) 60% ของเส้นทางบินรวมเป็นจุดคุ้มทุน
จากการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้คำนวณเพดานค่าโดยสารต่อกิโลเมตรได้ดังนี้
(1) เส้นทางบินที่ผู้ประกอบการให้บริการเต็มรูปแบบ (สายการบินปกติไม่ใช่โลว์คอสต์) ให้กำหนดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร
(2) เส้นทางบินที่ผู้ประกอบการให้บริการต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ให้กำหนดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร
จะเห็นได้ว่าเพดานค่าโดยสารต่อกิโลเมตรดังกล่าวเป็นอัตราเดียวเท่ากันตลอดเส้นทางบิน ไม่ว่าจะบินใกล้หรือบินไกล เพดานค่าโดยสารต่อกิโลเมตรก็เท่ากัน (Flat Rate) การกำหนดเพดานค่าโดยสารแบบนี้ไม่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงของสายการบิน ซึ่งมีต้นทุนต่อกิโลเมตรในเส้นทางบินไกลถูกกว่าต้นทุนต่อกิโลเมตรในเส้นทางบินใกล้ ด้วยเหตุนี้ จึงควรกำหนดเพดานค่าโดยสารต่อกิโลเมตรตามระยะทางบิน ไม่ควรใช้อัตราเดียว
การใช้เพดานค่าโดยสารต่อกิโลเมตรเพียงอัตราเดียวเท่ากันตลอด ไม่ว่าจะบินใกล้หรือบินไกล เป็นการไม่ส่งเสริมการเดินทางไกล เพราะต้องจ่ายแพงมาก จะทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรองซึ่งอยู่ห่างไกลไม่ประสบผลสำเร็จ
3. เปรียบเทียบการคิดค่าตั๋วเครื่องบินของไทยกับเพื่อนบ้าน
ประเทศเวียดนามเพื่อนบ้านของเราเพิ่งประกาศใช้เพดานค่าโดยสารล่าสุดไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมานี่เอง โดยไม่แบ่งประเภทสายการบิน พบว่ามีเพดาน 5 ขั้น แยกตามระยะทางบินดังนี้
(1) ระยะทางไม่เกิน 500 กิโลเมตร กำหนดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 2,336 บาท
(2) ระยะทาง 500-850 กิโลเมตร กำหนดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 3,285 บาท
(3) ระยะทาง 850-1,000 กิโลเมตร กำหนดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 4,219 บาท
(4) ระยะทาง 1,000-1,280 กิโลเมตร กำหนดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 4,964 บาท
(5) ระยะทางเกิน 1,280 กิโลเมตร กำหนดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 5,840 บาท
ถ้าคำนวณเพดานค่าโดยสารต่อกิโลเมตรของเวียดนามดู จะพบว่าเพดานค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะลดลงเมื่อบินไกลขึ้น การกำหนดเพดานค่าโดยสารของเวียดนามที่คำนึงถึงระยะทางบิน ทำให้ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วเครื่องบินในราคาที่เป็นธรรม เป็นผลให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวเวียดนามกันมากขึ้น
ผมลองใช้เพดานค่าโดยสารของเวียดนามมาคิดเพดานค่าโดยสารเครื่องบินในไทยจากกรุงเทพฯ ไปสู่สนามบินภูเก็ต เชียงใหม่ และอุบลราชธานี เปรียบเทียบกับการใช้เพดานค่าโดยสารของไทยมาคิด ได้ผลดังนี้
(1) กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ระยะทาง 698 กิโลเมตร หากใช้เพดานค่าโดยสารของเวียดนามมาคิดจะได้เพดานค่าโดยสาร 3,285 บาทต่อเที่ยว ในขณะที่ใช้เพดานค่าโดยสารของไทยมาคิดจะได้เพดานค่าโดยสาร 9,074 บาทต่อเที่ยวสำหรับสายการบินปกติ (ให้บริการเต็มรูปแบบ) และ 6,561 บาทต่อเที่ยวสำหรับโลว์คอสต์ นั่นคือบนเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต เพดานค่าโดยสารของไทยแพงกว่าของเวียดนาม 176% สำหรับสายการบินปกติ และ 100% สำหรับโลว์คอสต์
(2) กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 566 กิโลเมตร หากใช้เพดานค่าโดยสารของเวียดนามมาคิดจะได้เพดานค่าโดยสาร 3,285 บาทต่อเที่ยว ในขณะที่ใช้เพดานค่าโดยสารของไทยมาคิดจะได้ 7,358 บาทต่อเที่ยวสำหรับสายการปกติ และ 5,320 บาทต่อเที่ยวสำหรับโลว์คอสต์ นั่นคือบนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เพดานค่าโดยสารของไทยแพงกว่าของเวียดนาม 124% สำหรับสายการบินปกติ และ 62% สำหรับโลว์คอสต์
(3) กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ระยะทาง 484 กิโลเมตร หากใช้เพดานค่าโดยสารของเวียดนามมาคิดจะได้เพดานค่าโดยสาร 2,336 บาทต่อเที่ยว ในขณะที่ใช้เพดานค่าโดยสารของไทยมาคิดจะได้ 6,292 บาทต่อเที่ยวสำหรับสายการปกติ และ 4,549 บาทต่อเที่ยวสำหรับโลว์คอสต์ นั่นคือบนเส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี เพดานค่าโดยสารของไทยแพงกว่าของเวียดนาม 169% สำหรับสายการบินปกติ และ 95% สำหรับโลว์คอสต์
4. ข้อเสนอแนะ
เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้โดยสาร และเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศให้ทั่วถึง ผมขอเสนอแนะให้กำหนดเพดานค่าโดยสารต่อกิโลเมตรโดยคำนึงถึงระยทางบินเช่นเดียวกับของเวียดนาม กล่าวคือเมื่อบินไกลขึ้นเพดานค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะต้องถูกลง ไม่ใช่เท่ากันตลอดระยะทางดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาล รับมือการเดินทางช่วงปีใหม่ ร่วมแก้ไข้ปัญหาตั๋วเครื่องบินราคาแพง
รัฐบาล เตรียมพร้อมรองรับการเดินทางช่วงปีใหม่ 2568 ร่วมมือภาคเอกชนแก้ไข้ปัญหาตั๋วเครื่องบินราคาแพง เพิ่มเที่ยวบิน 247 เที่ยวบิน เพิ่มที่นั่ง 73,388 ที่ แก้ไขปัญหาราคาตั๋วเครื่องบินแพงช่วงหยุดยาว
'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน แต่ค้านขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช
'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อลดค่าโดยสารทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ต้องการทำให้ค่าผ่านทางด่วนถูกลงด้วย ก็เป็นเรื่องดีเช่นเดียวกัน แต่กลับจะขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ให้เอกชน ซึ่งจะไม่สามารถทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายถูกลงได้ ในทางกลับกัน การทำให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว จะทำให้ค่าผ่านทางถูกลง
'ดร.สามารถ' แพร่บทความ บทเรียนสูญ 1.3 แสนล้าน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ต้องมีผู้รับผิดชอบ
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ รถไฟฟ้าสายสีส้ม "บทเรียนที่ต้องเรียน" มีเนื้อหาดังนี้
'ดร.สามารถ' แนะ นายกฯ ลด 'อุบัติเหตุจราจร' ช่วง สงกรานต์ เข้มงวดกวดขัน 'คนขับ'
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง แนะ “นายกฯ” ลด “อุบัติเหตุจราจร” ช่วง “สงกรานต์” มีเนื้อหาดังนี้่
เจ๊งวันละ 7.4 ล้านบาท! รถไฟฟ้าสายสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสาย
สามารถแฉรถไฟฟ้าสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสายครบ 30 วัน แล้ว ผงะ! ขาดทุนวันละ 7.4 ล้านบาท ถามไปต่อหรือพอแค่นี้ ที่สำคัญอย่าลืมทุกสายต้อง 20 บาทเพราะหาเสียงไว้