เอ็น.อาร์.จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ ปรับกลยุทธ์หลังโควิด-19 ทำวงการจิวเวลรี่ซึมยาว ลุยงานแฟร์อัญมณีและเครื่องประดับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึง Jewellery & Gem ASEAN Bangkok หรือ JGAB 2024 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1-4 พ.ค. 2567 มั่นใจหลังจบงานได้ดีล และออเดอร์เพียบ พร้อมปรับไซต์ซิ่ง โปรดักส์ ชูทอง 9K ตอบสนองตลาดอเมริกาที่กำลังมาแรง
19 มี.ค. 2567 – นางสาวริญญารัตน์ วิลัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็น.อาร์.จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการระบาด ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมวงการเครื่องประดับและจิวเวลรี่เป็นอย่างมาก ซึ่งบริษัทก็ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากเป็นโรงงานที่ผลิตเครื่องประดับเพชร ทองและเงินที่ส่งขายตามร้านจิวเวลรี่ขนาดใหญ่ในเมืองไทย พอโควิดระบาดทำให้บริษัทจิวเวลรี่หลายๆร้าน ที่เคยสั่งสินค้าจากบริษัทได้หยุดกิจการไป
ทั้งนี้ แต่เดิมบริษัทมีช่างฝีมือที่ทำงานกว่า 100 คน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 50 คน เนื่องจากบริษัทได้รีไซน์ขนาดบริษัทลง จึงได้มีการปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการพร้อมกับหาตลาดใหม่ๆ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ปัจจุบันบริษัทเน้นเรื่องการส่งออกเป็นหลักจากเดิมที่ขายในประเทศ 80% ส่งออก 20% แต่หลังโควิดระบาดได้มีการปรับเป็นเน้นการส่งออกให้มากขึ้นคิดเป็น 80% สำหรับสินค้าที่จำหน่ายอยู่ปัจจุบัน ได้แก่ เครื่องประดับทอง 18K 14K และ 9K เครื่องประดับเงิน รวมไปถึงเครื่องประดับเพชร พลอย ทับทิม ไพลิน มรกต พลอยสี บลูโทพาส และอเมทิสต์ เป็นต้น
ขณะเดียวกันบริษัทมองว่าการไปออกงานแฟร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศนับเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ อย่างงาน Jewellery & Gem ASEAN Bangkok หรือ JGAB 2024 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1-4 พ.ค. 2567 ก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้ได้เจอลูกค้าต่างชาติ เจอคู่แข่ง และพันธมิตรมากมาย ที่สำคัญทำให้รู้ว่าต้องปรับปรุงสินค้าตัวไหนให้ตอบโจทย์ตลาดในปัจจุบัน เช่น แหวนประดับเพชร แต่เดิมเน้นตัวทองให้หนา ทำให้ราคาสูงเกินไป แต่พอไปออกงานแฟร์พบปะพูดคุยกับลูกค้า ทำให้รู้ว่าจะแข่งกับตลาดลำบาก จึงปรับตัวทองให้บางลง ราคาไม่สูง เรียกได้ว่าใช้ของคุณภาพดีแต่ราคาไม่แพงเกินไป มองว่าหลังจบงานแฟร์ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ออเดอร์จากลูกค้าทั่วโลกอีกด้วย” นางสาวริญญารัตน์ กล่าว
นางสาวริญญารัตน์ กล่าวต่อว่า ฐานลูกค้าของเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นยุโรป ตะวันออกกลาง อินเดีย ศรีลังกา และญี่ปุ่น โดยเฉพาะการเพิ่มฐานที่ญี่ปุ่นให้มากขึ้น ถือเป็นแผนสำคัญของเรา เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็น Brand Loyalty ถ้าทำติดตลาดแล้วเราจะอยู่ได้นาน
นอกจากการปรับกลยุทธ์การขายที่เน้นส่งออกเป็นหลัก บริษัทยังได้ทำหน้าร้านหรือโชว์รูม เพื่อให้ลูกค้าทั้งชาวไทย และต่างประเทศเข้ามาเลือกสินค้าได้โดยตรง ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มองหาเครื่องประดับไม่ว่าจะเป็นเงิน ทอง หรือเพชร เป็นต้น
“แต่เดิมธุรกิจของเราเป็นธุรกิจครอบครัว เริ่มจากคุณพ่อเป็นช่างทอง พอออกมาทำโรงงานของตัวเอง โดยมีคุณแม่เป็นเซลล์ ก็นำสินค้าไปเสนอขายตามร้านจิวเวลรี่ แต่ยังไม่เคยมีหน้าร้านของตัวเอง พัฒนาเรื่อยมาจนเป็นโรงงานที่มีพนักงานช่างฝีมือนับร้อยคน เมื่อถึงเวลาที่เราเข้ามาร่วมบริหารจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการส่งออกไปต่างประเทศ และการมีหน้าร้านเพื่อให้ลูกค้าได้รู้จัก N.R. Jewelry Factory มากขึ้น” นางสาวริญญารัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อมั่นว่าหากสถานการณ์โลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ หรือเลวร้ายไปมากที่เป็นอยู่ ก็คาดว่าเศรษฐกิจโลกก็จะเริ่มทยอยฟื้นตัว แน่นอนว่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
ซึ่งจัดเป็น Luxury goods หรือสินค้าฟุ่มเฟือยนั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยส่งออกเครื่องประดับพุ่ง 5 เดือนโต 46%
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือน พ.ค.65 ยังโตต่อเนื่อง มูลค่า 757.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 69.70% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,014.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 7.03% หลังส่งออกไปเก็งกำไรลดตามราคาตลาดโลกที่ลดลง รวม 5 เดือน มูลค่า 3,289.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 46.90% รวมทองคำ มูลค่า 7,589.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 113.96% คาดแนวโน้มยังดี หลังท่องเที่ยวฟื้น บาทอ่อน แต่ต้องจับตาสงคราม เงินเฟ้อ
ตื่นตาอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลกและชั้นนำไทย โชว์และจำหน่ายปลีก ใน Phuket Gems & Jewelry Fest วันนี้-12 ธ.ค. นี้
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน ปลุกกระแสส่งออกอัญมณีไทยสอดรับกับการกลับมาเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว