'เช้นค์ โปรเซส' ยกระดับโซลูชัน รุกตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ดันไทยสู่ศูนย์กลางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เช้นค์ โปรเซส (ประเทศไทย) เดินหน้ายกระดับสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงเต็มตัว นำจุดแข็งการสร้างโซลูชันเครื่องจักรตลอดขั้นตอนมาใช้ เน้นกระบวนการลำเลียงมาตรฐานโลก ลดการแตกหักในผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เปราะบาง-ต้นทุนสูง พร้อมจัดแสดงนวัตกรรมเรือธงในงาน VICTAM Asia 2024 อย่าง ระบบลำเลียง E-finity Dense Phase Conveying System มั่นใจพร้อมต่อยอดการลงทุนเต็มที่ ผลักดันบริษัทฯ เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักช่วยดันไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

16 มี.ค. 2567 – นายดัสติน โอฟาเรล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เช้นค์ โปรเซส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านโซลูชัน และบริการครบวงจรในอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้สั่งสมความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่หลากหลายและครอบคลุมในทุกกระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนการจัดการวัตถุดิบ ไปจนถึงการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในขั้นตอนสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีการลำเลียงวัสดุ การป้อนวัสดุ กระบวนการบด จำแนกประเภท การชั่งน้ำหนักทางอุตสาหกรรม การผสม อีกทั้งหลังจากการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Hillenbrand Group เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ ได้ยกระดับประสิทธิภาพจากการใช้งานโซลูชันได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจเกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) ที่มีมาตรฐานด้านสุขลักษณะ (Hygienic) ไม่ต่างไปจากอาหารคน

โดยหลักแล้ว เช้นค์ โปรเซส จะมุ่งเน้นตอบโจทย์เรื่องการลำเลียงวัตถุดิบของลูกค้า เนื่องจากเราเข้าใจในความสำคัญของระบบสายพานและกลไกต่าง ๆ อย่างลึกซึ่ง ซึ่งการมีโซลูชันที่ได้คุณภาพจะสามารถช่วยหลีกเลี่ยงเรื่องการปนเปื้อน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา จนถึงช่วยลดโอกาสการแตกหัก ฉะนั้นแล้วสำหรับวัตถุดิบอาหารสัตว์เลี้ยงที่เปราะบาง ราคาสูง และมีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน ตั้งแต่การอบแห้ง การเคลือบผิว การทำความเย็น จนถึงเข้าสู่แหล่งจัดเก็บ จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับการลำเลียงด้วยระบบส่งด้วยลมแบบ dense phase เพื่อลดการแตกหักให้มากที่สุดก่อนลงบรรจุภัณฑ์ ที่สำคัญวิธีนี้ยังสามารถช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตได้เป็นอย่างดี โดยนอกเหนือจากเครื่องจักรที่ผลิตที่โรงงานที่สมุทรปราการแล้ว ยังสามารถประสานงานกับซัพพลายเออร์ที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อนำอุปกรณ์อื่น ๆ มาประกอบเสริมให้เกิดโซลูชันที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดได้อีกด้วย

นายดัสติน กล่าวอีกว่า สำหรับการทำตลาดของ เช้นค์ โปรเซส จะเน้นการออกแบบโซลูชันเพื่อซัพพอร์ทลูกค้าในตลาดเอเชียแปซิฟิก และโอเชียเนียเป็นหลัก ในสัดส่วนการส่งออกถึง 90% ส่วนอีก 10% ที่เหลือมีการผลิตและส่งขายในยุโรป ตะวันออกกลาง และในทวีปอเมริกา ซึ่งในประเทศไทยเอง เช้นค์ โปรเซส ได้เดินหน้าทำตลาดอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2564 จากการเข้าควบรวมกับบริษัท SHAPE พร้อมเดินหน้ายกระดับศักยภาพ ทั้งในด้านบุคลากรและศักยภาพของโรงงานเพื่อสร้างความสามารถในการสนับสนุนลูกค้าในภูมิภาคอย่างมั่นคง ก่อนต่อยอดเติมเต็มการพัฒนาให้บริษัทฯ เติบโตจากวันควบรวมกว่า 3 เท่า

สำหรับในปี 2567 นี้ เช้นค์ โปรเซส ได้มุ่งมั่นต่อการแข่งขันในตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการเข้าร่วมในงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ VICTAM Asia 2024 (วิกแทม เอเชีย 2024) ไปเมื่อวันที่ 12-14 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ พร้อมจัดแสดงกลุ่มนวัตกรรม 2 เทคโนโลยีไฮไลท์ประจำปีนี้ ที่ประกอบไปด้วย ระบบลำเลียง เป็นเทคโนโลยีลำเลียงผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ลมในการลำเลียงซึ่งเป็นไฮไลท์หลักอย่าง E-finity Dense Phase Conveying System ระบบขนส่งที่ลดการแตกหักในทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จ สุดท้ายคือ Rotary Pocket Feeder เครื่องมือสำหรับการผสมวัสดุในกรณีที่ไม่ต้องการใช้เครื่องมิกเซอร์ ช่วยลดการเสียเวลาและป้องกันตัวผลิตภัณฑ์แตกหัก

ส่วนภาพรวมในธุรกิจผลิตเครื่องจักร ภายหลังจากสถานการณ์โรคระบาดผ่อนคลายลง บริษัทฯ ได้ลงทุนเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนของการแปรรูปอาหารที่กำลังขยายตัวเป็นอย่างมาก โดยเรามีการเปิดโรงงานใหม่เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตและสามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้ซื้อยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องรายละเอียดในด้านคุณภาพการผลิตและการบริการ ซึ่ง เช้นค์ โปรเซส มีความมั่นใจในจุดแข็งขององค์กรเราอย่างมาก เพราะเรามี Know-how ที่เข้าใจในการทำงานตลอดทั้งกระบวนการ รวมทั้งมีซัพพอร์ทจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงบริการหลังการขายที่คอยให้บริการอย่างมืออาชีพอีกด้วย ซึ่งเราได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้ามาโดยตลอด

“เช้นค์ โปรเซส ตั้งเป้าที่จะก้าวสู่ผู้นำตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง และเราพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของภูมิภาคนี้ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปีข้างหน้าอีกด้วย” นายดัสติน กล่าว

เพิ่มเพื่อน