“สุดาวรรณ” ตั้งโจทย์ 5 ประเด็น ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ระดมสมองยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น Tourism Hub หรือ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยว” เพิ่มรายได้ในทุกมิติ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี
15 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในพิธีเปิดงานประชุม WORKSHOP IGNITE THAILAND’S TOURISM ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีการรวมตัวกันของทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เพื่อร่วมระดมสมองกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การนำศักยภาพจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้สังคมไทยอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น Tourism Hub หรือ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยว” ของภูมิภาคอย่างแท้จริง เพื่อเพิ่มรายได้ในทุกมิติ
“ในปี 2566 การท่องเที่ยวไทยสามารถสร้างรายได้ มูลค่า 2.13 ล้านล้านบาท และในปี 2567 รัฐบาลมีเป้าหมายในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท ถึงแม้ว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนเราจะผลักดันร่วมกัน เพราะในวันนี้ประเทศไทยมีศักยภาพเกินกว่านั้นแล้ว เราจะจุดพลังเพื่อก้าวข้ามไปยังเป้าหมายที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวดังกล่าว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากที่สุดถึง 18.64 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งหมด จากในปี 2566 อยู่ที่ 12.80 % ของ GDP จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจส่วนสำคัญของประเทศไทยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยว คือ จุดแข็งของประเทศไทย เราจำเป็นต้องผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน ปรับสเกลการพัฒนาให้มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาปัจจัยเกี่ยวเนื่องของวงจรการท่องเที่ยว ปรับกลยุทธ์ให้นักท่องเที่ยวเพิ่มรายจ่ายต่อทริปและเพิ่มจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยว กระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองหลักและเมืองรองอย่างทั่วถึง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่าประเทศไทยมีจุดเด่นทางการท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งที่ได้เผยโฉมให้ชาวโลกได้รับรู้แล้ว และอีกมากมายที่ยังรอการค้นหาและพร้อมปะทุออกมาให้ชาวโลกได้สัมผัส ซึ่งถึงเวลาแล้ว ที่จะร่วมกันจุดพลังดึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่ออกมาให้ชาวโลกได้ชื่นชมอย่างเต็มพิกัด ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ผ่านการผลักดัน 5 ประเด็นสำคัญที่จะระดมสองกันเพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ประกอบด้วย
ประเด็นแรก Things must do in Thailand
ประเทศไทยมีความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตที่น่าสนใจ จนเป็นที่มาของ Amazing Thailand ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ชาวโลกมาเยี่ยมเยือนประเทศไทย ได้แก่ 1. อาหารไทย 2. มวยไทย 3. ผ้าไทย 4. วัดไทย และ 5. Thai Show เราจะหาวิธีการช่วยกันเฟ้นหาและผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เข้าไปอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อให้นักท่องเที่ยวนึกถึงประเทศไทยเป็นประเทศแรก ใช้ความทรงพลังของเอกลักษณ์ไทย มัดใจชาวโลกให้เข้ามาท่องเที่ยว มีรอยยิ้ม และเก็บความประทับใจกลับไปบอกต่อจนติดใจและกลับมาเที่ยวซ้ำ
ประเด็นที่สอง จุดพลังเมืองหลักชูเมืองรอง
ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยว ประเพณี วัฒนธรรมที่หลากหลาย มีอัตลักษณ์เฉพาะแต่ละพื้นที่รวมทั้งมีภูมิประเทศที่มีความแตกต่างกัน มีศักยภาพและความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปค้นหา สัมผัสประสบการณ์ และเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งประเทศ เราจะร่วมกันหาวิธีการผลักดันทุกเมืองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวได้ทั้ง 365 วัน “มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” ยกระดับเมืองรองให้เป็นจุดท่องเที่ยวมากขึ้นโดยเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวเมืองหลักสู่เมืองรอง ส่งต่อและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าไปสัมผัสประสบการณ์ ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของเมืองรองใหม่ๆ ที่ยังต้องการนักท่องเที่ยวเข้าไปค้นหา พร้อม ๆ กับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ยกระดับมาตรฐานที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมการท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ เพื่อขับเคลื่อนการกระจายรายได้สู่พี่น้องชาวไทยให้กินดีอยู่ดี โดยใช้การท่องเที่ยวสร้างรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกิดความยั่งยืน จากระดับชุมชนสู่ชุมชน จากเมืองสู่เมือง และจากประเทศสู่สายตาชาวโลก
ประเด็นที่สาม การยกระดับ World Class Events เพื่อเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางกลุ่ม MICE
ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา ยกระดับสู่การเป็นเมืองแห่ง World Class Events ไม่ว่าจะเป็น เตรียมความพร้อมของสนามกีฬาขนาดใหญ่ ศูนย์การประชุม ศูนย์การจัดแสดงสินค้าที่มีมาตรฐานและศักยภาพในการรองรับการจัดงานอีเว้นท์ระดับโลก
เราจะหาวิธีทำอย่างไรในการผลักดันให้ไทยเป็นเมืองศูนย์กลางมหกรรมความบันเทิงระดับโลก ให้ประเทศไทยไม่หลับใหล ก้าวสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางงานเทศกาล งานศิลปะ งานแสดงสินค้าและนิทรรศการ การประชุมระดับนานาชาติ และมหกรรมคอนเสิร์ต โดยนำศิลปินระดับโลกเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก และการจัดงาน Mega Events และยกระดับเทศกาลไทยจาก Local to Global เช่น มหาสงกรานต์ ลอยกระทง ที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งการจัดมหกรรมในระดับ World Class Events จะสร้างรายได้ให้กับทุกภาคส่วน และกระจายลงสู่ระดับภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนอย่างทั่วถึง
ประเด็นที่สี่ ประสานพลัง ASEAN Connectivity การเชื่อมแบบไร้รอยต่อ
การจะหาวิธีการเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อ ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน จับมือกับประเทศพันธมิตรในระดับภูมิภาค โดยใช้ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย สร้างความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อรวมการท่องเที่ยวในภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียว โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางหลักต้อนรับนักท่องเที่ยว ดึงจุดแข็งของแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมจากประเทศเพื่อนบ้านมารวมเป็น Package ดึงดูดนักท่องเที่ยว ค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิม ต่อจิ๊กซอว์เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว โดยต้องผลักดันให้เกิด Single Visa และการนำเทคโนโลยีมายกระดับการบริหารจัดการพิธีการข้ามแดน รวมทั้งปลดล็อคปัญหาอุปสรรคในการข้ามแดน เชื่อมโยงล้อ ราง เรือ อย่างเป็นระบบ เพื่อก้าวสู่การเป็น ASEAN One Destination โดยไทยเป็นศูนย์กลาง
ประเด็นที่ห้า คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว
การก้าวเข้าสู่ความเป็น Tourism Hub สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การสร้างประสบการณ์และความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยแรกในการตัดสินใจเลือก Destination ในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ความสะดวก ความสะอาด รวมทั้งการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดย ต้องบูรณาการความร่วมมือในการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี ใช้เสน่ห์ ความมีน้ำใจโอบอ้อมอารีของคนไทย ดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ร่วมกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลความปลอดภัยสร้างความอุ่นใจให้กับนักท่องเที่ยว สร้างความมั่นใจโดยการอัพเกรดมาตรฐานการให้บริการให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ใส่ใจความสะอาด ตระหนักความสำคัญของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการยกระดับการให้บริการ สร้างประสบการณ์ที่ดีและภาพลักษณ์ที่น่าจดจำ นำไปสู่การกลับมาท่องเที่ยวซ้ำและบอกต่อ สู่การเป็นบ้านหลังที่สองที่อบอุ่นใจเมื่อได้กลับมาเยือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” ลุยเพิ่มศักยภาพ เร่งเครื่องดันสนามบินสมุยสู่ “Tourism Hub” อ่าวไทย
หากพูดถึงอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ปัจจุบันกลับเติบโตอย่างน่าสนใจหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการมากขึ้น
กำชับดูแลโบราณสถานลุ่มเจ้าพระยา หวั่นน้ำท่วม
28 ส.ค.2567 -น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รับน้ำภาคเหนือที่ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากหน่วยงานในสังกัด โดยกำชับดูแลพื้นที่โบราณสถานกับศาสนสถาน และพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
วธ.ตั้งศูนย์ประสานงานโบราณสถานน้ำท่วม
24 ส.ค. 2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยของโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้รา
ต่างชาติเข้าไทยทะลุ 21 ล้านคน
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยผลการประเมินเบื้องต้นพบว่าสัปดาห์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น จากการมีวันหยุดในหลายประเทศของกลุ่มตลาดระยะใกล้ (Short haul) อาทิ การมีวันหยุดพิเศษ (เทศกาลโอบ้ง) ในญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น