'มนพร' เร่งแหลมฉบังเฟส 3 ถมทะเลคืบ 22%

‘มนพร’ ตรวจงานงานท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ถมทะเลพื้นที่ 3 คืบหน้า 22% สั่งเร่งเพิ่มเครื่องจักร มั่นใจส่งมอบทันใน มิ.ย.นี้ มั่นใจส่งมอบแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี69

12 มี.ค. 2567นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ (เฟส) ที่ 3 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ก.พ.2567 กิจการร่วมค้า CNNC ดำเนินงานถมทะเล พื้นที่ 3 ได้แล้ว 22.01% ใช้เครื่องจักรทางทะเล 71 ลำ และกำลังคน 520 คน ซึ่งในการดำเนินงานมีปัญหาอุปสรรคคือ จำนวนหินที่ใช้ในโครงการฯ และเครื่องจักรไม่เพียงพอ โดยได้แก้ไขปัญหาด้วยการประสานเหมืองหินให้เร่งผลิตหินให้เพียงพอภายในเดือน มี.ค.2567 และเพิ่มเครื่องจักรในการก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ และในส่วนของงานถมทะเลได้เพิ่มเรือเข้ามาช่วยในการขุดลอก

นางมนพร กล่าวว่า กิจการร่วมค้า CNNC​ ได้เร่งรัดงานให้ทันตามแผน โดยภายในวันที่ 7 มิ.ย.2567 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดส่งมอบพื้นที่ถมทะเล​ 3 ต้องมีความก้าวหน้าสะสมอย่างน้อย 35.87% เพื่อให้สิ้นเดือน มิ.ย.2567 มีความก้าวหน้าสะสม 37.77% ดังนั้นนับจากเดือน มี.ค.นี้ ต้องดำเนินการให้ได้ความก้าวหน้าประจำเดือนอย่างน้อย 4.04% ทั้งนี้กิจการร่วมค้า CNNC มั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ถมทะเล 3 ได้ทันภายในเดือน มิ.ย.2567 และส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้เอกชนคู่สัญญาได้ภายในปลายปี 2568 และกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ ในปี 2569

สำหรับการดำเนินการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนใหม่ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) พ.ศ. 2562 ของท่าเทียบเรือ A5 ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือสำหรับขนส่งรถยนต์ มีความยาวหน้าท่า 527 เมตร และมีขีดความสามารถขนถ่ายรถยนต์ 700,000 คัน/ปี ปัจจุบันบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 เม.ย.2569 โดยภายหลังสิ้นสุดสัญญาต้องดำเนินการเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่ ทั้งนี้ กทท.ได้จัดทำรายงานผลการศึกษา และหลักการโครงการฯ เสนอกระทรวงคมนาคมแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการตามมติคณะกรรมการ PPP และรอผลสรุปจากที่ประชุม โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะแจ้งให้ทราบผลต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนโครงการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2561 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 600 ไร่ บริเวณถ้าเทียบเรือ B กับ C รวม 6 ราง สามารถจอดรถไฟได้สูงสุด 8 ขบวน รองรับตู้สินค้าสูงสุด 2 ล้าน​TEU ต่อปี ได้มีการจัดทำแผนดำเนินการเพิ่มเติม​ 3 แผน​ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดังนี้

1. จ้างเหมาบริการรถยกสูง (Reach Stacker) 2 คัน ภายในเดือน เม.ย.2567

2. จ้างเหมาเปลี่ยนสายไฟฟ้า (Cable Reel) ของเครนขาสูงแบบติดตั้งบนราง (RMG) 2 คัน (เพิ่มระยะสายจาก 480 เมตรเป็น 600 เมตร) ภายในเดือน ก.ค. 2568

3. จ้างเหมาสร้าง RMG 2 คัน และยางรถเครนขาสูง (RTG) 4 คัน (จัดหาเครื่องมือระยะที่ 2) หากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน จะสามารถสนับสนุนนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) จากทางถนนเป็นทางราง เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น ลดมลพิษ รวมทั้งลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศให้ต่ำลงอีกด้วย

นางมนพร กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการท่าเทียบเรือ A หลังจากได้มีการยกเลิกประกาศ กทท. เรื่องให้เรือชายฝั่งที่รับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ดำเนินการบรรจุตู้สินค้าลงเรือ (Loading Container) ณ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566  ส่งผลให้ปริมาณตู้สินค้าใน ทลฉ. ลดลง เพราะเจ้าของตู้สินค้าประสงค์จะขนถ่ายตรง ณ ท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ (TLC) เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่า ซึ่ง กทท. อยู่ระหว่างทบทวนอัตราค่าภาระ โครงสร้าง และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลโอ่ผลงานยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเชื่อมโยงอีอีซี

รัฐบาลยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เชื่อมโยงอีอีซี ล่าสุดกรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.3481 ตอน บ้านหัวไผ่ - การเคหะฯ จังหวัดปราจีนบุรี แล้วเสร็จ

'อนุทิน' ยันไม่คิดเอาคืนใคร ปมที่ดินเขากระโดงอย่าโยงการเมือง ไม่อย่างนั้นก็หมดสภาฯ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงข้อพิพาทพื้นที่เขากระโดงระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมที่ดิน ซึ่งกระทรวงคมนาคมยืนยันสิทธิ์ตามกฎหมาย