'สยามคูโบต้า' มุ่งยกระดับการเกษตรไทย พร้อมเดินหน้าลงทุนหนุนใช้เทคโนโลยีพัฒนาเพาะปลูกถั่วเหลือง

เครื่องจักรกลการเกษตรเป็นตัวช่วยสร้างมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตรและทำให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่การทำการเกษตรยุคใหม่ เกษตร 4.0 ดังนั้นเครื่องจักรกลการเกษตรจึงเป็นนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชให้ได้ตรงตามความต้องการของตลาด และด้วยประเทศไทยมีจำนวนประชากรในภาคเกษตรมากถึง 40% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่มีขนาดใหญ่

11 มี.ค. 2567 – บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด หนึ่งในผู้เล่นในตลาด มองว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ปริมาณน้ำฝนลดต่ำลง ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร  แต่ก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบางชนิดที่ยังดีอยู่ เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักทำให้เกษตรกรต้องหันมาใช้เครื่องจักรกลเพื่อทดแทนแรงงานกันมากขึ้น

ปี 67 ตั้งเป้ายอดขาย 6 หมื่นล้าน

ซึ่ง จูนจิ โอตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมานั้น มียอดขายอยู่ที่ 58,000 ล้านบาท ลดลงประมาณ 7% เมื่อเทียบปี 2565 ที่มียอดขายที่ 63,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 70% และการส่งออกต่างประเทศ 30% โดยมีหลายปัจจัยที่ทำให้ยอดขายชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนน้ำที่มาจากภัยแล้ง และต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการซื้อและการลงทุนของเกษตรกรชะงักไป ส่วนยอดขายในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ แนวโน้มภาคการเกษตรไทยในปี  2567 คาดว่าสถานการณ์จะยังคงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง สยามคูโบต้า จะยังคงรักษาบทบาทการเป็นบริษัทเครื่องจักรกลการเกษตรชั้นนำของประเทศไทยต่อไป ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และนำเสนอโซลูชันอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนเครื่องจักรในสายการผลิตใหม่ นอกจากนี้ยังลงทุนเกี่ยวกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และการอนุรักษ์พลังงาน ลดของเสีย ไม่เพียงแต่ในผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงไซต์การผลิตของบริษัทด้วย ตาม Brand statement ของ Kubota group  “For Earth, For Life” อย่างไรก็ตามในปี 2567 นี้ ได้เตรียมงบลงทุนไว้ประมาณ 1,400 ล้านบาท โดยจะแบ่งเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ 34% สนับสนุนงานด้าน ESG 19% การทดแทนเครื่องจักรและเครื่องมือ 16% เป็นต้น

“สยามคูโบต้ามีโรงงาน 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี และนิคมสวนอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการส่งออกแทรกเตอร์ รถเกี่ยวนวดข้าว และรถขุดเล็กในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในตลาดอาเซียนของกลุ่มคูโบต้าเป็นอย่างมาก โดยมีกำลังการผลิตแทรกเตอร์  67,000 คัน และรถเกี่ยวนวดข้าวอยู่ที่ 10,000 คันต่อปี เรามีศักยภาพที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้ลูกค้าไม่เพียงแต่ภายในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงการส่งออกไปต่างต่างประเทศอีกด้วย และโรงงานยังมีที่ดินที่สามารถขยายออกไปเพื่อรองรับการเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคตได้อีกด้วย” จูนจิ โอตะ กล่าว

ลงทุนไทยต่อเนื่อง

จูนจิ โอตะ กล่าวถึงกรณีที่นายนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง หารือกับผู้บริหารบริษัทคูโบต้า บริษัทผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรอันดับ 1 ในญี่ปุ่น เพื่อขอความร่วมมือนำเทคโนโลยีที่บริษัทคูโบต้ามีความเชี่ยวชาญมาเพิ่มผลผลิต เพิ่มศักยภาพของผลผลิต ลดการใช้แรงงานและค่าใช้จ่าย เพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้น ทั้งนี้ได้หารือร่วมกัน เพื่อมีโครงการนำร่องช่วยเหลือเกษตรกรที่สนใจปลูกถั่วเหลืองเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ชีวิตที่ดีขึ้น ว่า การลงทุนในประเทศไทยนั้นคูโบต้ามีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตจะมีการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่นกัน

ส่วนการปลูกถั่วเหลืองนั้นจะมีการศึกษาและนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทยนายกฯ อยากขยายการปลูกมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมานั้นประเทศไทยมีการปลูกถั่วเหลืองเพียง 1% ที่เหลือ 99% เป็นการนำเข้า ซึ่งคูโบต้าพร้อมให้การสนับสนุน เรามีเครื่องจักรครบทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับกระบวนการดังกล่าว ทางคูโบต้าได้ตั้งคณะทำงานงานขึ้นมา 4ทีม 4 ทีมประกอบด้วย 1.กลุ่มประสานงานภาครัฐ เอกชน และการประชาสัมพันธ์, 2.กลุ่มพัฒนากระบวนการเพาะปลูกและปฏิทินการเพาะปลูกถั่วเหลือง, 3.กลุ่มพัฒนาเครื่องจักรกลในกระบวนการเพาะปลูกถั่วเหลือง และ 4.กลุ่มปฏิบัติการ การเพาะปลูก

“สยามคูโบต้ายังคงสานต่อนโยบายคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ในการมุ่งมั่นทำให้คูโบต้าเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก หรือ Global Major Brand (GMB) ภายในปี 2030 โดยวางเป้าหมายเป็น ‘Essentials Innovator for Supporting life” สร้างความเชื่อมั่นในนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับลูกค้าทั่วโลก พร้อมเป็นองค์กรที่ตอบแทนสังคม ดำเนินธุรกิจโดยการพัฒนาสินค้าที่สานต่อความยั่งยืนทั้งด้านอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม” จูนจิ โอตะ กล่าว

จูนจิ โอตะ กล่าวย้ำว่า สยามคูโบต้าพร้อมมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมที่มุ่งตอบสนองนโยบาย GMB 2030 ใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความปลอดภัยทางด้านอาหารด้วยการทำเกษตรอัจฉริยะ โดยมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรทั้งในไทยและอาเซียน จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพออากาศ และสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในสินค้า โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การทำเกษตรแบบ คาร์บอนต่ำ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องอัดฟางหลังการเก็บเกี่ยวข้าวที่ใช้ในกระบวนการทำเกษตรปลอดการเผา รวมถึงการพัฒนาโซลูชันเพื่อสร้างโมเดลต้นแบบในการปลูกพืชข้าวอีกด้วย

รุกตลาดอาเซียน

ในส่วนของตลาดต่างประเทศ สยามคูโบต้าเตรียมตอกย้ำความสำเร็จของการรุกตลาดอาเซียนคือ KUBOTA CAMBODIA Co,. Ltd. ณ ประเทศกัมพูชา และ KUBOTA LAOS Sole Co,. Ltd. ณ สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งในปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 10 ปี แห่งความสำเร็จในการเข้าไปทำตลาดทั้งสองแห่ง

เนื่องในคูโบต้ากัมพูชาและคูโบต้าลาวจะครบรอบ 10 ปีในปี 2567 คูโยต้าได้ให้การสนับสนุนบริการหลังการขายและความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่พนักงานบริการผู้แทนจำหน่ายในทั้งสองประเทศ ปัจจุบันเรามีผู้แทนจำหน่ายทั้งหมด 55 แห่ง ในประเทศลาว 26 แห่ง และกัมพูชา 29 แห่ง พร้อมทั้งวางแผนที่จะเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากแทรกเตอร์และรถเกี่ยวนวดข้าว เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรของทั้งสองประเทศนี้ต่อไป

“เรากำลังวางแผนที่จะสนับสนุนการนำดิจิทัลมาใช้กับผู้ค้าปลีกแต่ละราย เพื่อให้ผู้แทนจำหน่ายสามารถดำเนินกิจกรรมทางการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคาดว่าจะทำให้สามารถยกระดับการบริหารความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทและลูกค้าให้เป็นลูกค้าของเราที่ยั่งยืน (Customer Relationship Management หรือ CRM) ให้ดียิ่งขึ้นได้อีก ปัจจุบันเราดูแลลูกค่าอย่างต่อเนื่องโดยการนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Kubota ให้แก่ลูกค้า” จูนจิ โอตะ กล่าว

พัฒนาผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อน

จูนจิ โอตะ กล่าวย้ำว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการเกษตรไทย สยามคูโบต้ากำลังส่งเสริมการใช้ Hay baler หรือเครื่องอัดฟาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการเผา ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์นี้ไม่เพียงแต่ลดการเผาหลังการเก็บเกี่ยว แต่ยังสามารถเอาฟางที่อัดได้มาเป็นอาหารสัตว์อีกด้วย นอกเหนือจากนี้ เรากำลัง ตรวจสอบวิธีการเพาะปลูก ด้วยการใช้เทคโนโลยีการจัดการน้ำที่เรียกว่า Alternate Wetting and Drying (AWD) หรือการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งจะมีผลในการยับยั้งการสร้างก๊าซมีเทนอีกด้วย

บุกตลาดเต็มสูบ

ด้าน วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส กล่าวว่า ในปี 2567 คูโบต้าจะบุกตลาดเต็มกำลังด้วยกลยุทธ์ RACE ประกอบด้วย R – Retain Leadership รักษาความเป็นผู้นำ เป็นการรักษากลุ่มลูกค้าเก่า มุ่งเน้นการให้ความรู้ การบริการที่ดีทั้งการบริการหลังการขายและความพร้อมของอะไหล่ เพื่อสร้างความไว้วางใจและเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของคูโบต้า

A – Accelerate Growth ขยายตลาดเพื่อการเติบโต เพิ่มการใช้งานเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่อพ่วงให้ครอบคลุมทุกขั้นตอนการเพาะปลูกทั้งพืชไร่และพืชสวน โดยการพัฒนาอุปกรณ์ต่อพ่วงให้สามารถใช้งานร่วมกันสินค้าปัจจุบันได้หลากหลาย รวมถึงขยายไปสู่พืชมูลค่าสูง (High Value Crop)

C – Climate Change รับมือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ โซลูชันการทำนาเปียกสลับแห้ง การจัดการการใช้น้ำในแปลง การจัดการฟาร์มโดยใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน การปลูกพืชแบบในร่ม การนำพลังงานสะอาดมาใช้เพื่อการเกษตร

และ E- ESG for Sustainability ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ด้วยการสร้างสมดุล Ecosystem พร้อมกับความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน โดยเฉพาะแนวคิดการส่งเสริมและสนับสนุนความยั่งยืนบนเส้นทางอาชีพของเกษตรกรให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่สู่การต่อยอดมูลค่าเพิ่มในด้านต่างๆ เพื่อสร้างรากฐานแห่งความยั่งยืนของชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร.

เพิ่มเพื่อน