หากพูดถึง กฎหมายที่ทันสมัยทันกับวิถีชีวิต ที่ปัจจุบันหลายกิจกรรมต่างขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลแล้ว เชื่อว่า หลายคนคงนึกถึงกฎหมายไหนไม่ได้ นอกจาก “กฎหมาย DPS (Digital Platform Services)” หรือชื่อทางการคือ “พระราชกฤษฎีกา การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565” ที่กำกับดูแลโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ภายใต้เป้าหมายของการกำกับ ดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการคนไทย มีความโปร่งใสเป็นธรรม หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ถ้าใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแล้ว เกิดเหตุถูกโกง ถูกหลอก หรือปัญหาจากการใช้งาน ผู้ใช้งานก็สามารถเชื่อมั่นได้ว่า จะได้รับการดูแลและความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่างทันท่วงทีนั่นเอง
11 มี.ค. 2567 – ตั้งแต่กฎหมาย DPS มีผลบังคับใช้เกือบ 7 เดือน มีผู้ให้แพลตฟอร์มดิจิทัล มาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ในระบบแล้ว 1,273 แพลตฟอร์ม (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มีนาคม 2567) โดยเฉพาะในกลุ่มออนไลน์มาร์เก็ตเพลซ บริการสื่อสารออนไลน์ และบริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสารที่เป็น 3 กลุ่มแพลตฟอร์ม ที่เข้ามาแจ้งมากที่สุด แต่ที่น่าสนใจไปกว่าตัวเลขแพลตฟอร์มที่ต่อแถวมารายงานสถานะการให้บริการอย่างต่อเนื่อง คือ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนหลักจะไปต่อในทิศทางไหนบ้าง? เราจึงชวนฟอลโล่อัพ “กฎหมาย DPS” เพิ่มความชัดเจน กำกับ-ดูแล แพลตฟอร์มดิจิทัลกับสิ่งที่ต้องเร่งด่วนดำเนินการในช่วงนี้
‘ETDA DPS Notified’ เพิ่มความมั่นใจก่อนตัดสินใจใช้บริการ
จากที่ ETDA ได้เปิดระบบแจ้งความประสงค์ใช้เครื่องหมายรับแจ้งหรือ ‘ETDA DPS Notified’ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้สร้างแรงจูงใจให้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ยังไม่ดำเนินการแจ้งให้รีบเข้ามาแจ้งข้อมูล มากขึ้น เพราะเครื่องหมายรับแจ้งนี้ จะช่วยสะท้อนสถานะของแพลตฟอร์มว่า ได้มีมาตรการขั้นต้นในการดำเนินการตามกฎหมาย DPS ซึ่ง ETDA ได้เร่งกระตุ้นให้แพลตฟอร์มทำความเข้าใจในเงื่อนไขการใช้เครื่องหมายผ่านกระบวนการ Workshop ที่จัดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการที่แพลตฟอร์มจะสามารถใช้เครื่องหมายรับแจ้งได้ จะต้องเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภททั่วไป ที่มีการแจ้งการประกอบธุรกิจบริการมาให้ ETDA ทราบก่อนแล้วเท่านั้น เพื่อให้ ETDA ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลความครบถ้วนตามกฎหมาย
ซึ่งปัจจุบันสำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์ใช้เครื่องหมายสามารถแจ้งผ่านระบบได้ ซึ่งในเร็วๆ นี้ ก็จะเตรียมปล่อยคู่มือเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น ส่วนสาเหตุที่จะต้องเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภททั่วไป เพราะถือเป็นแพลตฟอร์มกลุ่มใหญ่ที่ให้บริการแก่คนไทย ดังนั้น เครื่องหมายนี้ จึงจะเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจได้ว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีเครื่องหมายนี้แสดงอยู่ ที่เขากำลังเลือกใช้บริการนั้น เป็นแพลตฟอร์มที่ผ่านการยืนยันตัวตน มีแนวทางการให้บริการ การดูแล เยียวยา มีช่องทางการติดต่อ ภายใต้การดูแลของกฎหมาย DPS ซึ่งถ้าให้พูดแบบเข้าใจง่ายๆ คือ เครื่องหมาย ‘ETDA DPS Notified’ ก็เปรียบเสมือนเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. ที่ติดบนเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อเราเลือกใช้ก็มั่นใจได้ว่า มีคุณภาพนั่นเอง
‘Code of Conduct’ แก้ปัญหา ‘โฆษณาออนไลน์-สินค้าไม่ได้มาตรฐาน’
หลังจากที่กฎหมาย DPS ประกาศใช้แล้ว การดำเนินงานที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การติดตามประเด็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งในมุมที่กระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จะพบประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในด้านการฉ้อโกงและการหลอกลวงที่เกิดจากการโฆษณาออนไลน์ รวมถึง สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่าง แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และ ออนไลน์มาร์เก็ตเพลซ ซึ่งเป็นงานเร่งด่วนที่ ETDA รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนแพลตฟอร์มดิจิทัล จะต้องเร่งขับเคลื่อน โดยขณะนี้ ได้มีการจัดทำ Code of Conduct จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ‘ร่าง Code of Conduct’ ที่เป็นแนวทางการทำงานเพื่อดูแลเนื้อหาการโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และ ‘ร่าง Code of Conduct’ ที่เป็นแนวทางการแก้ปัญหาการขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
ซึ่งสาระสำคัญของร่างทั้ง 2 ฉบับ จะครอบคลุมแนวทางการดูแลตั้งแต่ การตรวจสอบคนที่เข้ามาดำเนินการในแพลตฟอร์ม การกรองโฆษณาที่ทำและสินค้าที่จะนำเสนอหรือขายว่ามีความปลอดภัยหรือไม่อย่างไร และหากไม่ปลอดภัยจะต้องมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยงอย่างไร รวมถึงแนวทางการแจ้งเตือนทั้งทางฝั่งของผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้าเอง ตลอดจนผู้บริโภค ให้ทราบถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นต้น โดย ETDA ได้มีการประชุมหารือกับทั้งผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ., มอก., อย., DBD, ธปท. และ คปภ. เป็นต้น พร้อมผนวกความร่วมมือกับศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA ทั้งในมุมสถิติที่เกิดขึ้น กระบวนการจัดการปัญหาในปัจจุบัน และแนวทางการดำเนินงานที่ ETDA จะเสนอเป็นมาตรการในการดูแลโฆษณาบนบริการต่างๆ เป็นต้น
ซึ่งการดำเนินงานในระยะต่อไป ก่อนเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อ ‘ร่าง Code of Conduct’ เพื่อปรับปรุงร่างและประกาศใช้เร็วๆ นี้ ยังมีการดำเนินงานในหลายๆ ส่วนที่ ETDA ได้เร่งทำงานแบบคู่ขนานทั้งการเร่งตรวจสอบข้อมูลของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้มีการแจ้งเข้ามา เพื่อการจัดแบ่งประเภทเพิ่มเติมทั้งในส่วนของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ แพลตฟอร์มเสี่ยงสูงและแพลตฟอร์มเฉพาะด้าน ที่จะต้องมีการออกมาตรการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการดำเนินงาน แต่ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างความเชื่อมั่น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งในมุมของผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น…แม้หลายคนอาจจับตาว่า การมีกฎหมาย DPS จะเข้ามาช่วยให้ชีวิตดิจิทัลดีขึ้น ไม่ถูกหลอก ไม่ถูกโกง และสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ได้จริงหรือไม่ คำตอบที่ได้ คือ ความมุ่งมั่น.นการทำงานของ ETDA เป็นอีกสิ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ และที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ETDA ก้าวไปคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนที่ต้องร่วมเดินไปด้วยกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘กนก’ สะท้อน ปัญหาความยุติธรรมโดยกฎหมาย บังคับใช้ กม.มากกว่าตัวบทของ กม.
ประเด็นที่เกิดคำถามต่อไป คือกฏหมายมุ่งเน้นบังคับไม่ให้คนกระทำผิด มากกว่าการทำให้คนกระทำผิดเป็นคนดี ใช่หรือไม่