'คลัง' ตั้งแท่นขายบอนด์ 3 หมื่นล้านยันหนี้สาธารณะปูดไม่ถึง 65% ต่อจีดีพี

“คลัง” ตั้งแท่นขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่นส่งความสุข วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ยันเงินกู้ พ.ร.ก. โควิดยังมีเพียงพอ โยนฝ่ายนโยบายตัดสินใจหากสถานการณ์รุนแรงอาจต้องกู้เงินเพิ่ม พร้อมแจงยังประเมินยากโอมิครอนกระทบเศรษฐกิจ ระบุสิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะปูดไม่ถึง 65% ต่อจีดีพี

29 ธ.ค. 2564 นางแพตริเซีย มงคลวณิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะมีการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ “รุ่นส่งความสุข” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำเงินที่ได้ ไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ภายใต้โครงการมาตรการต่าง ๆ เช่น การจัดหาวัคซีน เยียวยาผู้ประกันตน

โดยจะจำหน่ายวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้กับประชาชนเท่านั้น ผ่านช่องทางเคาน์เตอร์ อินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง และโมบาย แบงก์กิ้ง ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเริ่มจำหน่ายวันที่ 17-31 ม.ค. 2565 เวลา 8.30 น. รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 1.90% ต่อปี (ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย1.60% ต่อปี, ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 1.80% ต่อปี และปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 2.30% ต่อปี) ลงทุนได้ตั้งแต่ 1,000 บาท

ทั้งนี้ แบ่งการจำหน่ายเป็น 3 ช่วง โดยในสัปดาห์แรกจะเป็นการจำหน่ายแบบกำหนดอายุและจำกัดวงเงิน และในสัปดาห์ถัดไปจึงเปิดโอกาสให้ซื้อแบบไม่จำกัดวงเงิน ดังนี้ ช่วงที่ 1 (วันที่ 17-18 ม.ค. 2565) เปิดจำหน่ายให้กับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยซื้อได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย, ช่วงที่ 2 (วันที่ 19-23 ม.ค. 2565) เปิดจำหน่ายให้บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (รวมอายุ 60 ปีขึ้นไป) โดยซื้อได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย และช่วงที่ 3 (วันที่ 24-31 ม.ค. 2565) เปิดจำหน่ายให้บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (รวมอายุ 60 ปีขึ้นไป) แบบไม่จำกัดวงเงินจำหน่าย โดยวงเงินการซื้อในแต่ละช่วงไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนสามารถซื้อพันธบัตรได้ในทุกช่วงการจำหน่ายตามเงื่อนไขอายุและวงเงินที่กำหนด และหากเป็นผู้เยาว์ต้องมีบัญชีธนาคารตัวแทนจำหน่ายและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน

นางแพตริเซีย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังต้องรอดูก่อนว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจแค่ไหน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2565 ลงเหลือ 3.4% จากเดิมที่ 3.9% จากผลกระทบของการระบาดของโอมิครอนนั้น มองว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อ โดยต้องรอดูว่ามาตรการทั้งหลายที่ออกมาจะมีผลแค่ไหนกับการคงอยู่ของจีดีพี รวมถึงการดูแลด้านสาธารณสุขว่าจะสามารถรองรับผลกระทบได้มากแค่ไหน

ทั้งนี้ ในส่วนของวงเงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินโควิดนั้น ปัจจุบันคิดว่าวงเงินที่มีอยู่ยังเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ แต่ถามว่าหากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น จำเป็นจะต้องมีการหาแหล่งเงินเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ตรงนี้เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่จะต้องพิจารณา
“ถามว่าในกรณีเลวร้าย สบน. จะมีการทบทวนตัวเลขหนี้สาธารณะทั้งปีอย่างไรนั้น ต้องบอกก่อนว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 58% ต่อจีดีพี และที่ผ่านมาได้มีการขยับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพี เป็น 70% ต่อจีดีพี เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง โดยหากมีความจำเป็นจริง ๆ ก็ยังมีพื้นที่ทางการคลังให้สามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าไม่ได้มีการตรากฎหมายกู้เงินเพิ่มเติม คาดว่า ณ สิ้นปี

ปีงบประมาณ 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62% กว่าต่อจีดีพี แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของตัวเลข หากเศรษฐกิจหดตัวมากกว่าคาด ก็เป็นไปได้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันถ้าเศรษฐกิจดีกว่าคาด สัดส่วนหนี้ก็เปลี่ยนได้ เรื่องนี้ในมุมมองของ สบน. คือการสร้างพื้นที่ทางการคลังไว้ และตามแผนการกู้เงินในปีงบประมาณ 2565 ยังไงสัดส่วนหนี้สาธารณะก็ไม่ถึง 65% ต่อจีดีพี เว้นแต่มีการตรากฎหมายกู้เงินเพิ่มเติมเท่านั้น” นางแพตริเซีย กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"

คลัง ยกเครื่องกม.ฉ้อโกง อุดช่องโหว่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ เล็งเพิ่มโทษผู้กระทำผิด

‘จุลพันธ์’ เร่งยกเครื่องกฎหมายฉ้อโกง อุดช่องโหว่ธุรกิจแช่ลูกโซ่ ชงเอาผิดแม่ข่ายระดับกลาง-ล่าง เข็นเพิ่มโทษให้สะท้อนความเสียหาย พร้อมเปิดช่องคดีอายุความหยุดลงหากผู้ต้องหาหนีคดี ป้องคดีหมดอายุความ รับเล็งโยนยุติธรรมดูแลกฎหมายแทน ขีดเส้น 3 เดือนได้ข้อสรุป