ธพ.โอดยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 11 เดือนปี 64 ตกต่อเนื่อง ต่อวันลดลง 4.6% น้ำมันอากาศยานยังครองแชมป์ ชี้ไทยมีมาตรการเข้าประเทศเข้มขึ้น กลุ่มดีเซลมาดี รับแรงหนุนจากการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
29 ธ.ค. 2564 นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.6% โดยการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลง 39.9% กลุ่มเบนซินลดลง 9.3% กลุ่มดีเซลลดลง 5.0% น้ำมันก๊าดลดลง 6.2% ขณะที่การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 14.7% LPG เพิ่มขึ้น 7.7% สำหรับการใช้ NGV ลดลง 19.6%
โดยเมื่อดูจากสัดส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินช่วง 11 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 28.59 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.3% โดยปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์ลดลงมาอยู่ที่ 27.94 ล้านลิตร/วันหรือลดลง 9.1% สำหรับการใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.66 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเฉพาะเดือนพ.ย. 64 พบว่า การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30.53 ล้านลิตร/วัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกชนิดน้ำมัน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์และสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นในช่วงต้นเดือนพ.ย.
ขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลช่วง 11 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 61.84 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.0% สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้ลดลงมาอยู่ที่ 37.32 ล้านลิตร/วัน หรือลดลง 15.0% น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา(บี10) ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค. 2562 ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.55 ล้านลิตร/วัน สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเฉพาะเดือนพ.ย. อยู่ที่ 71.87 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.ปีก่อน 3.5% เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ด้านการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.48 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 39.9% เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนดให้ผู้โดยสารที่บินเข้าประเทศไทยจาก 8 ประเทศ (บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ ซิมบับเว) ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2564 ต้องเข้ากระบวนการกักตัว 14 วัน และตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 ห้ามผู้โดยสารดังกล่าวเข้าประเทศไทย
อย่างไรก็ตามการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 844,811 บาร์เรล/วัน ลดลง 0.9% สวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 58,035 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้น 54.9% สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ลดลงมาอยู่ที่ 33,523 บาร์เรล/วัน หรือลดลง 24.7% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 2,180 ล้านบาท/เดือน มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปช่วง 11 เดือน เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ไบโอดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 204,822 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 10.8% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 15,085 ล้านบาท/เดือน หรือเพิ่มขึ้น 84.3%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
IRPC พร้อมส่งออกน้ำมันอากาศยานมาตรฐาน JIG รองรับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก
วันที่ 18 ก.ค. 2567 นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมผู้บริหาร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC)
'พีระพันธุ์' วอนม็อบรถบรรทุก รอร่างกฎหมายเข้าสภาฯ เปลี่ยนรูปแบบคิดราคาน้ำมัน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ประกาศเตรียมระดมพลผู้ประกอบการรถบรรทุกจัดคาราวานเพื่อนขบวนรถบรรทุกทุกภูมิภาค เข้ากรุงเทพฯในวันที่ 3 ก.ค.
สนพ. เผยราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เม.ย. เพิ่มขึ้น 22%
สนพ. เผยราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเดือน เม.ย. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น กว่า 22 % หลังคลังน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดต่ำลงสวนทางจากนักวิเคราะห์คาดการณ์