อาหารกระป๋อง - บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจอความท้าทาย เมื่อรัฐประกาศเก็บภาษีความเค็ม

ภาครัฐเตรียมจัดเก็บภาษีความเค็มในอาหาร…ตั้งเป้าคนไทยลดการบริโภคเค็มและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสำหรับโรคติดต่อไม่เรื้อรังจากการบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ที่แนะนำ

29 ธ.ค. 2564 จากการที่ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็ม และคาดว่าน่าจะประกาศแนวทางปฏิบัติในปี 2565 เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับปรุงการผลิต ก่อนจะกำหนดวันเริ่มบังคับใช้ในระยะต่อไป โดยพิจารณาความพร้อมของผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงภาวะเศรษฐกิจประกอบด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยลง ซึ่งจากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า การบริโภคโซเดียมเฉลี่ยของไทย อยู่ที่ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่ากับการบริโภคเกลือ 1.8 ช้อนชา ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำในปริมาณไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ถึงเกือบ 2 เท่า ซึ่งการบริโภคโซเดียมมากเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน โดยประมาณการค่ารักษาพยาบาลของ 5 กลุ่มโรคข้างต้น อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศ (ประมาณ 4 แสนล้านบาท)

ที่ผ่านมาภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานเพื่อลดการบริโภคเค็มของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านรูปแบบการรณรงค์ รวมถึงการกำหนดให้ผู้ผลิตต้องแสดงปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการแบบ Guideline Daily Amounts หรือ GDA ซึ่งจะแสดงเป็นปริมาณต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์/ต่อหน่วยการบริโภค และแสดงสัดส่วนร้อยละของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน บังคับใช้กับอาหารและเครื่องดื่ม 13 กลุ่ม อาทิ อาหารขบเคี้ยว อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมทานแช่แข็ง/แช่เย็น เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่กำหนดให้แสดงปริมาณโซเดียมบนฉลากแบบระดับสีเพื่อให้ผู้บริโภคสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น สหราชอาณาจักรกำหนดให้สีแดง สีเหลือง และสีเขียว บ่งบอกปริมาณโซเดียมต่ออาหาร 100 กรัม ระดับสูง ปานกลาง และต่ำ ตามลำดับ

ในบรรดาสินค้าอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมดซึ่งมีมูลค่าตลาดหลายแสนล้านบาทต่อปีนั้น กลุ่มสินค้าอาหารที่มีโซเดียมสูง ซึ่งวัดจากปริมาณโซเดียม (มิลลิกรัม) ต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์ เป็นกลุ่มสินค้าที่เข้าข่ายจะได้รับผลกระทบหากมีการจัดเก็บภาษีความเค็ม ทั้งนี้ จากการสำรวจสุ่มตัวอย่าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มสินค้าอาหารที่มีโซเดียมสูงอาจจัดกลุ่มได้เป็น 6 ประเภทเรียงตามลำดับปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์จากมากไปน้อยตามลำดับ ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น/แช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จแบบ Shelf stable ปลากระป๋อง และขนมขบเคี้ยว โดยเบื้องต้นประเมินว่า มูลค่าตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ในปี 2565 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 88,000 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของมูลค่าตลาดอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด ดังนั้น ท่ามกลางสถานการณ์ต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งต้นทุนด้านพลังงาน ราคาน้ำมันปาล์ม และข้อจำกัดด้านการขนส่ง ซึ่งสวนทางกับกำลังซื้อที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวและค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีโซเดียมสูงกลุ่มนี้ยังอาจเผชิญความท้าทายเพิ่มเติมและต้องเร่งปรับตัวหากภาครัฐมีการประกาศแนวทางปฏิบัติและบังคับใช้ภาษีความเค็มในอนาคต

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในการพิจารณาจัดเก็บภาษีความเค็มนั้น ภาครัฐน่าจะคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีเพื่อให้ผู้ผลิตมีระยะเวลาในการปรับตัว โดยแนวทางการจัดเก็บภาษีที่เป็นไปได้น่าจะเป็นการจัดเก็บจากผู้ผลิตอาหารโดยตรง และใช้อัตราภาษีแบบขั้นบันไดตามปริมาณโซเดียม กล่าวคือ เค็มมาก เก็บภาษีมาก ซึ่งน่าจะกำหนดโครงสร้างอัตราภาษีที่แตกต่างกันสำหรับสินค้าอาหารแต่ละประเภท ในลักษณะเดียวกับการจัดเก็บภาษีความหวานของสินค้าประเภทเครื่องดื่ม

โดยการจัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียมในอาหารมีการใช้ในบางประเทศ อาทิ ฮังการีและโปรตุเกสได้จัดเก็บภาษีจากอาหารที่มีปริมาณเกลือสูง ไม่ว่าจะเป็นของขบเคี้ยว เครื่องปรุงรส อาหารสำเร็จรูป ซีเรียล ในอัตรา 0.8 ยูโรต่อกิโลกรัม หากมีปริมาณเกลือเกินกว่า 1 กรัมต่ออาหาร 100 กรัม ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารในฮังการีกว่า 40% ปรับเปลี่ยนสูตรอาหารเพื่อลดปริมาณโซเดียมลง ส่วนผู้บริโภคอย่างน้อย 14% เปลี่ยนไปเลือกซื้ออาหารสุขภาพทดแทนอาหารที่มีโซเดียมสูง

หากภาครัฐมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวในอนาคต ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลกระทบต่อผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ อัตราภาษี กรอบเวลาการบังคับใช้ สภาพการแข่งขันของตลาด และความยืดหยุ่นในการปรับตัวของผู้ผลิตอาหารแต่ละประเภท อย่างไรก็ดี แม้ว่าการจัดเก็บภาษีความเค็มยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่แนวโน้มผู้บริโภคที่หันมาเลือกซื้ออาหารสุขภาพและให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะมุ่งเน้นที่การปรับสูตรอาหารให้มีปริมาณโซเดียมลดลงหรือการใช้เกลือโซเดียมต่ำทดแทน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอย่างอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นอาหารพื้นฐานและมีข้อจำกัดในการปรับเพิ่มราคาสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าตามปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีราคาสูง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีราคาต่อหน่วยตั้งแต่ 25 บาทขึ้นไป อาหารแช่เย็น/แช่แข็งแบบพรีเมียม ผู้ประกอบการอาจผลักภาระต้นทุนภาษีไปสู่ราคาสินค้าได้บางส่วน อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจใช้กลยุทธ์ปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตอาหารสุขภาพมากขึ้นทดแทน เนื่องจากผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมีแนวโน้มความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับสินค้าสุขภาพมากกว่า

ทั้งนี้ แม้ว่าการจัดเก็บภาษีความเค็มจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่อาจนำมาใช้เพื่อช่วยลดการบริโภคเค็มลง แต่ประสิทธิผลยังขึ้นอยู่กับการใช้มาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และการให้ความรู้ถึงความเสี่ยงของโรคจากการบริโภคโซเดียมมากเกินไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทศกาลกินเจ 2567 สสส. สานพลัง เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ชวนคนรุ่นใหม่ กินเจปลอดภัย ห่างไกล NCDs

น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลกินเจ เป็นเทศกาลแห่งการสั่งสมบุญกุศล ละเว้นเนื้อสัตว์ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ ถือเป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพ แต่อาหารเจส่วนมากมีรสหวาน มัน และเค็มจัด จากการสำรวจการบริโภคโซเดียมในคนไทย ปี 2566 พบว่า

กรมการค้าภายในตรวจเข้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหวั่นฉวยโอกาสกักตุน โก่งราคา

กรมการค้าภายในจัดชุดเฉพาะกิจ 10 ชุด ออกตรวจสอบสถานการณ์การจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสด และสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดสด ร้านขายของชำ ห้างค้าส่งค้าปลีก หลังยังไม่อนุมัติให้ปรับขึ้นราคา ส่วนในต่างจังหวัด พาณิชย์จังหวัดปูพรมตรวจเช่นเดียวกัน ป้องกันการฉวยโอกาสกักตุน โก่งราคา

พาณิชย์ยันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังไม่ขึ้นราคาขายส่ง

กรมการค้าภายในเผยผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่าย “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ยืนยันยังไม่มีการปรับขึ้นราคาขายส่ง จนทำให้ราคาขายปลีกขยับขึ้น ย้ำเข้าใจสถานการณ์ต้นทุนดี