'คลัง' เตรียมรื้อใหญ่ภาษีที่ดิน กระทุ้งแบงก์ปล่อยกู้ ชี้อย่าห่วงแต่เสถียรภาพ

‘คลัง’ เตรียมรื้อใหญ่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แจงต้องมีความเหมาะสม ไม่ซ้ำเติมประชาชนในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแอ พร้อมกระทุ้งแบงก์ปล่อยกู้ วอนอย่าห่วงเสถียรภาพจนไร้ศักยภาพ

6 มี.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.การคลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2567 “อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2024” และปาฐกถาพิเศษ “นโยบายภาครัฐต่อการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์” ว่า ที่ผ่านมาภาครัฐเห็นความสำคัญของภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวไปได้ โดยแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 คาดว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นจาก ทั้งจากมาตรการภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับตัวของผู้ประกอบการและภาคเอกชน

อย่างไรก็ดี ยังมีสัญญาณต้องระมัดระวัง ทั้งเศรษฐกิจจากต่างประเทศ ผลจากปัญหาสงคราม ภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในประเทศ ในเรื่องความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ระดับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ สะท้อนกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว ภาวะหนี้ครัวเรือนบั่นทอนกำลังซื้อของประเทศ ทำให้ต้องระมัดระวังผลของเศรษฐกิจภาพรวม

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังศึกษาพัฒนาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้มีความเหมาะสม โดยพิจารณาจากผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร โดยจะมีการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนาภาษีให้ตอบสนองผู้ผลิต ผู้ซื้อ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

“ภาษีที่ดินจะต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นประเด็นเชิงรายละเอียดทั้ง อัตรา ความเหมาะสม ครอบคลุม ก็จะมีการศึกษาร่วมกัน ให้เป็นผลบวกต่อภาคเอกชนและประชาชนมากที่สุด เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน คิดว่าในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันของไทยยังอ่อนแอ ก็ไม่ควรเอาภาษีมาซ้ำเติมประชาชน” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายเผ่าภูมิ กล่าวถึงกรณีการขอปรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ว่า เรื่องนี้มีการหรือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อย ๆ และยังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก ยืนยันว่า มาตรการ LTVหรือมาตรการต่าง ๆ ที่จะมาสนับสนุนอสังหาฯ ไม่สามารถมองมิติกระตุ้นให้ประชาชนคนก่อหนี้ ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงได้ในมิติเดียว ควรมองภาวะเศรษฐกิจที่จะเป็นผลบวกจากการขยับมาตรการ ซึ่งการมองในมุมระมัดระวังก็จำเป็น แต่ต้องไม่กระทบศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องรักษาสมดุล

“ปัจจุบันปัญหาบ้านขายไม่ออก เพราะซัพพลายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนสูงขึ้น เพราะเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีกำลังซื้อ กำลังการผลิตก็ปรับตัว ของใหม่ก็ลดลง ซึ่งเป็นการปรับตัวตามกำลังซื้อที่เป็นข้อเท็จจริง ดังนั้น ภาครัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งกลไกลตลาด แต่ต้องอำนวยความสะดวกให้กลไกเกิดขึ้นได้เร็ว ทั้งมาตรการภาษี และมาตรการด้านการเงิน ให้ตลาดทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายเผ่าภูมิ ระบุ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเป็นปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจไทย สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ แต่มีฐานะแข็งแกร่ง จึงยังไม่เป็นกลไกในการผลักดันภาวะเศรษฐกิจที่ดีพอ เพราะฉะนั้นต้องพัฒนา สนับสนุนให้เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชน และเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ต้องมีการคุยกันและหาจุดสมดุลระหว่างเสถียรภาพกับศักยภาพ มีเสถียรภาพแต่ไม่มีศักยภาพก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งปัจจุบันไม่มีความสมดุล เพราะอิงเสถียรภาพมากกว่า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง