มองเศรษฐกิจอาเซียน-จีน เดือนมีนาคม 2567 จีนออกมาตรการกระตุ้น จับตานโยบายของผู้นำใหม่อินโดนีเซีย

อัพเดทเศรษฐกิจอาเซียน-จีน เดือนมีนาคม 2567 จีนออกมาตรการหนุนตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ ตลาดอสังหาฯ เวียดนามผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จับตานโยบายของผู้นำใหม่อินโดนีเซีย

5 มี.ค. 2567 – ตั้งแต่ต้นปี 2567 ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก ทางการจีนออกมาตรการต่างๆ เพื่อเข้ามาหนุนตลาด เช่น การพิจารณาจัดตั้งกองทุน 2 ล้านล้านหยวนเพื่อใช้พยุงตลาดหุ้น การออกกฎระเบียบห้ามการขาย short-sell การเปลี่ยนประธานและหัวหน้าคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์คนใหม่ และล่าสุดจีนได้มีคำสั่งห้ามนักลงทุนสถาบันขายหุ้นในช่วงก่อนตลาดเปิด-ปิดในแต่ละวัน ซึ่งในแต่ละครั้งที่จีนมีการประกาศมาตรการ

หลังมีการออกมาตรการ ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงจะปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าว แต่หลังจากนั้นตลาดก็จะปรับตัวลดลง เป็น การสะท้อนว่ามาตรการของทางการที่เข้ามาพยุงตลาดหุ้นของจีนช่วยประคับประคองตลาดและลดความผันผวนได้ในระยะสั้น ทั้งนี้ ณ วันที่ 29 ก.พ.67 ดัชนี CSI 300 ปรับเพิ่มขึ้นได้กว่า 2% เมื่อเทียบกับปลายปี 66 เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีกองทุนรัฐบาลจีน (National Team) หรือ ได้เข้าซื้อหุ้นในประเทศเป็นจำนวนเงิน 4.10 แสนล้านหยวน  โดยคาดว่าจะยังมีการซื้อเข้ามาต่อเนื่อง

ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัวทำให้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมยังมีความจำเป็น โดยทางการจีนได้มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่าน PSL (Pledged Supplementary Lending) จำนวน 150 พันล้านหยวนในเดือนม.ค.67 โดยคาดว่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธนาคารรัฐรายใหญ่ของจีน เช่น ธนาคารการเกษตรแห่งประเทศจีนได้เริ่มมีการพิจารณาวงเงินกู้จัดสรรให้กับโครงการต่าง ๆ ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ (Whitelist) แล้ว ซึ่งยังต้องติดตามว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะนำเงินที่ได้จากการจัดสรรไปจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ อย่างไร

นอกจากนี้ มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR 5 ปี (ดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับที่อยู่อาศัย) ลงมากกว่าคาดและมากกว่าอัตราการปรับลดในอดีตที่ 0.25% มาอยู่ที่ 3.95% ทางการจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดย Bloomberg คาดการณ์ว่าในปี 67จีนมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 30 bps และปรับลดอัตราส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงได้อีก 100 bps

ด้านการบริโภคในประเทศจีนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ในช่วงเทศกาลวัดหยุดตรุษจีน (10-17 ก.พ. 2567) ชาวจีนได้มีการเดินทางในประเทศถึง 474   ล้านทริป เพิ่มขึ้น 34.3% YoY และมีการใช้จ่ายอยู่ที่ 632.7 พันล้านหยวน (+47.3%YoY) ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 นอกจากนี้ ชาวจีนมีการท่องเที่ยวผ่านรถไฟสูงถึง 99.5 ล้านทริป เป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศในระยะต่อไป

จีนยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด  ดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปของจีนหดตัวติดต่อกัน 4 เดือน (รูปที่ 3) แต่สาเหตุการปรับลดลงเกิดจากราคาอาหารสดอย่างเนื้อหมูเป็นหลัก ในขณะที่ดัชนีผู้บริโภคพื้นฐานยังคงเป็นบวก ยอดค้าปลีกของจีนในเดือนธ.ค.2566 พบว่ายังขยายตัวได้อยู่ที่ 7.4%YoY อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากดัชนีราคาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  (GDP deflator) ที่ครอบคลุมทุกสินค้าและบริการในประเทศปรับตัวลดลงโดยทั้งปี 2566 อยู่ที่ -0.6% นอกจากนี้ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนปรับตลดลงติดลบ 16 เดือนติดต่อกันโดยในเดือนม.ค.67 อยู่ที่ -2.5% บ่งชี้ว่าสถานการณ์เรื่องการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดของจีนยังมีความเสี่ยงอยู่

ติดตามการประชุมสองสภาของจีนในเดือนมี.ค. ซึ่งจะมีการรายงานผลงานรัฐบาลในปีที่ผ่านมา แนวนโยบายและทิศทางเศรษฐกิจของปี 2567 โดยจะมีการประกาศเป้าหมายตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ตัวเลขเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณ และตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้คาดว่าจีนจะตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2567 ไว้ที่ 5.0% ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตอยู่ที่ 4.5%

ท่ามกลางวิกฤตทะเลแดง มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในปี 2567 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6% การส่งออกเวียดนามคาดว่าจะขยายตัวจากการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกและฐานที่ต่ำในปีก่อน ส่วนวิกฤตทะเลแดงคาดว่าจะทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าและต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขนส่งไปยังตลาดยุโรป อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามอยู่ในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนซึ่งปกติจะขนส่งสินค้าทางอากาศ จึงได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยกว่าสินค้าที่ขนส่งทางทะเล เช่น สินค้าสิ่งทอและรองเท้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 6.0% ในปี 2567 โดยกระทบเชิงลบของวิกฤตทะเลแดงจะมีค่อนข้างจำกัด

ส่วนมูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 42.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 33.6 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว 86.1% ผลไม้และผัก 112.1% รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าสมาร์ทโฟนและส่วนประกอบ 15.8%

ตลาดอสังหาริมทรัพย์เวียดนามมีแนวโน้มผ่านจุดต่ำที่สุดและเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นจากนโยบายภาครัฐ โดยรัฐบาลเวียดนามได้พยายามจะคลี่คลาย 3 ปัญหาใหญ่ ประกอบด้วย

1.ปัญหาสินเชื่อตึงตัว (Credit crunch) อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเฉลี่ย  ได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9% จากระดับเกือบ 10% ในปีก่อน นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ FDI ในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเพิ่มขึ้นถึง 1992% ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เวียดนามได้ระดับหนึ่ง

2. ประเด็นด้านกฎหมาย รัฐบาลได้กำหนดราคาที่ดินให้ยืดหยุ่นตามกลไกตลาดมากขึ้น โดยยกเลิกกรอบการกำหนดราคาที่ดิน 5 ปี และแทนที่ด้วยการประกาศราคาประจำปี ซึ่งน่าจะสะท้อนการประเมินราคาที่ดินในตลาดได้ดีขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน การปล่อยสินเชื่อในการซื้อที่ดิน และการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ

3. ปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยยังมีอุปทานส่วนเกินอยู่ในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับไฮเอนด์ ในขณะที่กลุ่มระดับล่างยังเผชิญภาวะอุปทานไม่เพียงพอ ซึ่งประเด็นนี้จะยังคงต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวของตลาด

ในปี 2567 การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 9.2% อยู่ที่ 6 ล้านคน โดยในปีที่ 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 139.5% อยู่ที่ 5.45 ล้านคน ซึ่งส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวไทย (1.82 ล้านคน) และนักท่องเที่ยวเวียดนาม (1.02 ล้านคน) ทั้งนี้มีนักท่องเที่ยวจีนเพียง 548,000 คน คิดเป็น 23.2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่นักท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ กลับมาเพิ่มขึ้นในระดับ 82.5% ก่อนเกิดโควิด-19

ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่า การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอตัว ส่วนหนึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกัมพูชาต้องเผชิญการแข่งขันในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนที่สูงขึ้นจากไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มีมาตรการ Free-visa ให้กับนักท่องเที่ยวจีน อนึ่ง ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจกัมพูชา โดยในช่วงก่อนโควิด (ในปี 2019) รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ระดับ 4,919 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วน 18.2% ของ GDP ส่วนในปี 2023 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ระดับ 3,038 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็น 62% ของช่วงก่อนโควิด หรือ 9.6% ของ GDP

เศรษฐกิจกัมพูชายังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยเสี่ยงในประเทศเกิดจากระดับหนี้ภาคเอกชน (private debt) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 160% ของ GDP อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากโครงการที่สร้างไม่เสร็จจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นเพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนประสบปัญหาจนไม่สามารถลงทุนก่อสร้างต่อในหลายโครงการ และอุปทานส่วนเกินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศก็เป็นผลพวงมาจากการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งมูลค่าการลงทุนจากจีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่ำกว่าคาด ก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ และแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวในปีนี้

เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตช้าลงที่ 5.05% ในปี 2566 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าอย่างจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นบวกกับการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นสินค้าส่งออกหลัก ทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวในระดับต่ำที่ 1.32% การอ่อนแรงของการส่งออกตลอดปีแม้จะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2566 หรือคิดเป็น 0.1% ของ GDP (จากที่เคยเกินดุล 13.2 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือ 1% ของ GDP ในปี 2565) แต่การลงทุนทางตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ไหลเข้ามาช่วยบรรเทาชดเชยผลจากด้านการค้า ทำให้ในปี 2566 อินโดนีเซียมียอดดุลการชำระเงินเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 6.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2566 (จากที่เกินดุล 4.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2565)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2567 น่าจะรักษาระดับการเติบโตได้ที่ใกล้เคียง 5%  จากแรงหนุนผ่านการบริโภค การลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศที่ยังคงเติบโตตามนโยบายภาครัฐในการดึงดูดการลงทุน นอกจากนี้ แผนการสร้างเมืองหลวงใหม่จะใช้งบประมาณในปี 2567 เป็นมูลค่า 40.6 ล้านล้านรูเปียะห์ (2.7 พันล้านดอลลาร์ฯ) หรือประมาณ 0.19% ของ GDP จะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจอีกทางท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนจะยังเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในระยะข้างหน้า

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเบื้องต้นชี้ชัดว่านายปราโบโว สุเบียนโต จากพรรค Gerindra ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงสูงสุดที่ 58.48% ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจของว่าที่ผู้นำใหม่จะยังสานต่อนโยบายของของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด โดยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะประกาศในช่วงปลายเดือนมี.ค.และประธานาธิบดีคนใหม่จะเริ่มเข้ารับตำแหน่งในช่วยปลายเดือน ต.ค.2567

แนวทางนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อาจทำให้อินโดนีเซียมีแนวโน้มขาดดุลการคลังมากขึ้นในปีงบประมาณ 2568 โดยเฉพาะโครงการจัดหาอาหารกลางวันฟรีสำหรับเด็กนักเรียนที่จะถูกผลักดันเป็นโครงการแรกในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งต้องใช้วงเงินสูงถึง 400-450 ล้านล้านรูเปียะห์ (25.6-28.9 พันล้านดอลลาร์ฯ) ส่งผลให้การคลังขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ต่อ GDP จากที่ขาดดุลอยู่ที่ 2.29% ต่อ GDP ในปีงบประมาณ 2567 ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมนโยบายอื่นๆ ที่อยู่ในแผนงาน ซึ่งหากมีการดำเนินการเพิ่มเติมคงทำให้การขาดดุลการคลังของอินโดนีเซียสูงขึ้นไปอีก

ค่าเงินกีบยังคงผันผวนในทิศทางอ่อนค่า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของ สปป.ลาว ยังคงอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา อาทิ เร่งเพิ่มศักยภาพการผลิตและการสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุน การออกพันธบัตรออมทรัพย์สกุลเงินกีบเพื่อดึงเงินทุนไหลเข้าประเทศ ซึ่งแนวทางดังกล่าวล้วนต้องใช้เวลา ซึ่งค่าเงินกีบในเวลานี้จึงยังอ่อนค่าอยู่ที่ 19,483 กีบ/ดอลลาร์ฯ ณ วันที่ 4 มี.ค. 2567 อ่อนค่าต่อเนื่องจากปลายปี 2566 อยู่ที่ 19,162 กีบ/ดอลลาร์ฯ

การรักษาเสถียรภาพค่าเงินกีบเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ที่ภาครัฐตั้งเป้าดึงให้เงินเฟ้อมาอยู่ระดับต่ำที่ 9% ในปี 2567 จากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 25.35% ในเดือนก.พ. ขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 24.44% ในเดือน ม.ค. โดยเป็นผลจากการบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลต้นปี ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ เสื้อผ้าและรองเท้า ยาและเวชภัณฑ์การแพทย์ อาหารและเครื่องดื่ม และเครื่องใช้ในบ้าน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนภัยคนใช้รถ จับ 2 โจรแดนมังกร ตระเวนลักทรัพย์ตามลานจอด

พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผบก.น.7