สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใกล้จะติดลบ 100,000 ล้านบาทเข้ามาทุกที จากภาระที่ต้องเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานทั้งกลุ่มน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้ม (LPG) ในปัจจุบัน
ขณะที่เงื่อนเวลาการสนับสนุนเชื้อเพลิงทั้ง 3 กลุ่มนี้ก็ทยอยสิ้นสุดระยะเวลาลง ในภาคนโยบายจะต้องเตรียมการเพื่อรองรับกับสถานการณ์ เพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลาแม้ราคาจะไม่สูงก็ตาม แต่หากยังคงตรึงหรืออุ้มราคาพลังงานอยู่แบบนี้ กองทุนน้ำมันฯ ก็ต้องเผชิญกับสถานะที่ติดลบทะลุ 100,000 ล้านบาทอีกระลอกแน่นอน กองทุนน้ำมันฯ คงจะต้องตั้งเรื่องขอกู้ไว้กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ล่วงหน้าสำหรับรอบปีงบประมาณ 2567 ซึ่งหากมีการกู้ยืมเงินได้จริง กองทุนน้ำมันฯ คงต้องทบทวนสภาพคล่องทางการเงิน และอาจจะกระทบต่อการชำระคืนเงินต้นจากหนี้ครั้งก่อนที่กู้สถาบันการเงินมา 105,333 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มในเดือน พ.ย.2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับ ดีเซล จากที่ตรึงไว้ 30 บาท/ลิตร จนถึง 31 มีนาคม 2567 โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ และการลดภาษีสรรพสามิต 1 บาท/ลิตร ตามมติ ครม.เมื่อ 16 มกราคม 2567 มีกรอบการลดภาษีสิ้นสุดในวันที่ 19 เมษายน 2567 ขณะนี้เริ่มมีกระแสโยนหินถามทางเพื่อปรับขึ้นราคาขายปลีกเป็น 32 บาท/ลิตร และกระแสก็จุดติดอย่างเร็ว ภาคเอกชนออกมาคัดค้านทันทีว่าน่าจะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอแนวทางแก้ไข โดยหามาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางเป็นหลักเพื่อลดภาระการอุดหนุนลง และหาแนวทางลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ หันไปพึ่งพาพลังงานชีวภาพมากขึ้น โดยปรับโครงสร้างการผลิตไม่ต้องเสียภาษี เพื่อให้ต้นทุนเชื้อเพลิงชีวภาพลดต่ำลง รวมถึงส่งเสริมการติดโซลาร์เซลล์ ใช้ยานยนต์ที่เป็นพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ส่วน กลุ่มเบนซิน ซึ่งหมดโปรลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ต่ำกว่าราคาตลาด 2.50 บาท/ลิตร และแก๊สโซฮอล์ 95 ราคาต่ำกว่าราคาตลาด 1 บาท/ลิตร ไปตั้งแต่ 31 มกราคม 2567 แล้ว โดยที่กองทุนน้ำมันฯ เริ่มปรับอัตราการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันกลุ่มน้ำมันเบนซิน อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บเงินในแต่ละครั้งคงจะค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันการเรียกเก็บเงินครั้งนี้จะส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ E10-91 ใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ E10-95 มากขึ้น เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นไปตามกลไกตลาด
ขณะที่ ก๊าซหุงต้ม (LPG) มาตรการตรึงราคา LPG ขนาดถัง 15 กก.จะสิ้นสุดลงเดือนมีนาคม 2567 นี้
สำหรับฐานะของกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ติดลบ 91,887 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นน้ำมันติดลบ 45,222 ล้านบาท ก๊าซ LPG ติดลบ 46,665 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ กำลังกลับมา แนวทางแก้ไขของฝ่ายนโยบายยังคงวนเวียนอยู่กับการใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ และการลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งควรจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้นมากกว่าที่จะต่อมาตรการอุดหนุนนี้ไปเรื่อยๆ ในขณะที่ทางออกในเรื่อง “การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน” แม้จะถูกผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่ประสบผล ในรัฐบาลชุดนี้ก็เช่นกันแม้จะดูขึงขังในระยะแรก แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนักในขณะนี้
บทสรุปในระยะสั้น เชื่อได้ว่าฝ่ายการเมืองที่กำหนดนโยบายคงยังไม่กล้าขยับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และคงออกมาตรการอุดหนุนต่อไปเรื่อยๆ จากระยะสั้นกลายเป็นระยะยาวไป โดยใช้เหตุผลที่ต้องรอผลศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างพลังงานก่อน
การแก้ไขปัญหาที่ติดกับดักน้ำมันราคาถูก คงต้องมองภาพองค์รวมให้แตกฉาน ไม่แยกส่วนในการแก้ปัญหา และ คงต้องชั่งน้ำหนักใหม่ระหว่างผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการอุดหนุน กับการไม่อุดหนุน หรืออุดหนุนแค่เฉพาะส่วน ว่า แนวทางไหนจะก่อประโยชน์สูงสุดได้ดีกว่า เพราะตราบใดที่ไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานเป็นหลัก ปัจจัยความเสี่ยง ความผันผวนเป็นอุปสรรคสำคัญที่เราไม่สามารถคาดการณ์หรือกำหนดได้ การวางแผนรับมือกรณีเกิด Crisis ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวน เราจะได้มีกันชนที่หนาพอไว้รับมือกับสถานการณ์เพื่อให้ประเทศและประชาชนบาดเจ็บน้อยที่สุด
หากฝ่ายนโยบายยังคงทำงานแบบกั๊กผลประโยชน์ทางการเมือง ประเทศก็คงต้องเผชิญปัญหาในระยะยาว ซึ่งถึงที่สุดก็ย่อมส่งผลสะเทือนต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่กำลังเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับมาเป็นแน่ และเราอาจจะเห็นภาคส่วนต่างๆ ออกมาเรียกร้องกันมากขึ้น ดังเช่นล่าสุดที่ 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับความเสียหายที่รัฐบาลกำหนดนโยบายด้านพลังงานผิดพลาด ส่งผลเสียต่อประเทศ ทั้งการบริหารกองทุนน้ำมันฯ ราคาไฟฟ้า หนี้ กฟผ. ภาระโรงกลั่นที่มาจากนโยบาย Euro 5 และการปรับสูตร Pool Gas
ยังมีอีกสิ่งที่ยังไม่มีการพูดถึง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงปัญหาวิกฤตครั้งนี้ว่าจะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาที่เกิดจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น แต่เป็นวิกฤตสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ เอง ซึ่งคงต้องดูบทบาทของกองทุนน้ำมันฯ ในการแก้ไขสภาพคล่องในครั้งนี้ว่าจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอวรงค์' อัด 'ภูมิธรรม' ยังสับสนเรื่องเกาะกูด
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานทราปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า นายภูมิธรรมยังสับสนเรื่องเกาะกูด
‘ภูมิธรรม’ ทุบฝ่ายต้านบิดเบือน MOU เกาะกูด ทำผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน เมื่อการเมืองบิดเบือน MOU เกาะกูด" ระบุว่าการจุดประเด็นทางการเมืองเรื่อง MOU 44 ในช่วงนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยในหลา
'วรงค์' เหนื่อยใจกับนายกฯอิ๊งค์ พูดวกวน เหมือนดีใจที่กัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปอ้อมเกาะกูด
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "เหนื่อยใจกับอุ๊งอิ๊ง"
'หมอวรงค์' ประกาศล่า 1 แสนชื่อคนคลั่งชาติ ยกเลิก 'MOU 44'
'ไทยภักดี' ประกาศล่า 1 แสนรายชื่อคนคลั่งชาติ ยกเลิก MOU 44 แนะรัฐคุยกัมพูชา ลงสัตยาบัน UNCLOS ก่อนเจรจาผลประโยชน์