โฮมโปร โชว์ผลประกอบการปี 2566 มีรายได้ 72,821.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,432.34 ล้านบาท หรือ 4.95% โดยมีกำไรสุทธิ 6,441.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224.47 ล้านบาท หรือ 3.61% มีผลมาจากการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของโฮมโปร และเมกาโฮม รวมถึงการขยายสาขาในปี 2566 การจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้น
1 มี.ค. 2567 – นายวีรพันธ์ อังสุมาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ โฮมโปร (HomePro) เปิดเผยถึงผลประกอบการในปี 2566 ว่า “บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 72,821.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,432.34 ล้านบาท หรือ 4.95% โดยมีกำไรสุทธิ 6,441.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224.47 ล้านบาท หรือ 3.61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยหลักมาจากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการขายสินค้า
และรายได้จากการให้บริการลูกค้า (Home Service) จำนวน 68,283.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,192.43 ล้านบาท หรือ 4.90% ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของโฮมโปรและเมกาโฮม จากการขยายสาขาตั้งแต่ปี 2565 การจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากโครงการแลกเก่าเพื่อโลกใหม่ (Trade In) รวมถึงการผลักดันยอดขายจากการจัดกิจกรรมและงานต่างๆ ได้แก่ งาน HomePro Super Expo ที่โฮมโปรทุกสาขาทั่วประเทศ และทางออนไลน์ งาน HomePro Expo ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี และกิจกรรม Double Day ในช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าให้กับลูกค้าจากช่องทางการซื้อสินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีรายได้ค่าเช่า จำนวน 1,882.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 161.65 ล้านบาท หรือ 9.39% จากปีก่อน
เป็นผลมาจากการจัดเก็บรายได้ค่าเช่าพื้นที่เช่าในสาขาของโฮมโปรและศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจได้มากขึ้น
การรับรู้รายได้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นจากพื้นที่เช่าในโฮมโปรสาขาใหม่ และรายได้ค่าเช่าจากการจัดงานใหญ่ HomePro Expo ในช่วงไตรมาส 4 และบริษัทฯ ยังมีรายได้อื่นๆ อีกจำนวน 2,656.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.27 ล้านบาท หรือ 3.04% โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับคู่ค้าทั้งในช่องทางสาขา ช่องทางออนไลน์ และมีกำไรขั้นต้นจากการขายสินค้าและการให้บริการลูกค้า (Home Service) รวมจำนวน 18,165.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,152.49 ล้านบาท หรือ 6.77% เมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นต่อยอดขายก็เพิ่มขึ้นจาก 26.14% ในปีก่อน มาอยู่ที่ 26.60% ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของกลุ่มสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง การบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงรายได้จากการบริการ Home Service ที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนค่าขนส่งในการกระจายสินค้าสู่สาขาจะปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันก็ตาม”
นายวีรพันธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตขึ้นแบบชะลอตัวลงเล็กน้อย จากข้อจำกัดในด้านต่างๆ อาทิ มูลค่าการส่งออกที่หดตัวลง สืบเนื่องมาจากอุปสงค์ของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง ด้วยแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้หลังการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ยังคงเป็นแรงผลักดันสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมานี้ โดยมีนักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าเป้าหมายในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 แต่ยังส่งผลให้เกิดการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดการจ้างงาน และการขยับขยายธุรกิจเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น
ในช่วงครึ่งแรกของ ปี 2566 รัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ได้แก่ มาตรการช้อปดีมีคืน โดยมีระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งส่งผลให้เกิดการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลบวกของธุรกิจค้าปลีกทั้งในส่วนของยอดขายในช่องทางสาขาและออนไลน์ที่เติบโตขึ้น รวมถึงช่วงฤดูร้อน มีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ส่งผลให้ยอดขายสินค้ากลุ่มเครื่องทำความเย็น อาทิ พัดลม และ เครื่องปรับอากาศ เพิ่มสูงขึ้น
อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้ริเริ่มโครงการแลกเก่าเพื่อโลกใหม่ (Trade In) โดยลูกค้าสามารถนำสินค้าเก่ามาแลกส่วนลดในการซื้อสินค้าใหม่ เพื่อกระตุ้นยอดขายและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน และเป็นการผลักดันยอดขายส่วนหนึ่ง ส่งผลให้ยอดขายของครึ่งปีแรกโดยรวม มีการเติบโตอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่จากกระบวนการที่มีความล่าช้า ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องมีการขยายเวลาออกไปนานขึ้น ส่งผลให้การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน มีผลบังคับใช้ในปี 2567 เป็นต้นไป จึงเกิดการชะลอตัวของการจับจ่ายใช้สอยในช่วงครึ่งปีหลัง
“ในครึ่งปีหลังนี้ ยังได้รับผลกระทบจากหลายด้าน เช่น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน การลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลง ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังโดยรวมต่ำกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม บริษัท ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เช่น งาน HomePro Super Expo ที่โฮมโปรทุกสาขาทั่วประเทศและทางออนไลน์ งาน HomePro Expo ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี และกิจกรรม Double Day ในช่องทางออนไลน์” นายวีรพันธ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บีเจซี เผยผลประกอบการไตรมาส 3/67 ดันรายได้รวมเติบโตทะลุ 41,774 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานปกติเติบโตกว่า 14.2%
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาส 3/67 เท่ากับ 41,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 603 ล้านบาทจากปีก่อน กำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 2,825 ล้านบาท
ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 คว้ากำไร 730 ล้านบาท เพิ่ม 15% จากปีก่อน แม้ฝ่ามรสุมรอบด้าน ไตรมาส 3 ยังกำไร 189 ล้านบาท
ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 กำไรสุทธิ 730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่ 637 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 3 เผชิญความท้าทายรอบด้าน