“ธ.ก.ส.” เตรียมชงบอร์ดผุดซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ หวังปั้นเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าเกษตร-สินค้าเกษตรแปรรูป ปักธงเริ่มดำเนินการได้ภายในปีบัญชี 2567 พร้อมหนุนเกษตรกรเพิ่มมูลค่าหวังดึงดูดใจกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนที่จะเสนอคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ตามแผนยุทธศาสตร์ปีบัญชี 2567 (เม.ย.67-มี.ค.68) ในการจัดทำแพลตฟอร์มซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นตัวกลางในการนำสินค้า หรือสินค้าแปรรูปทางการเกษตรขึ้นมาขายผ่านระบบออนไลน์ จะช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินค้า และรายได้ของเกษตรกรให้มั่นคงมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ธ.ก.ส. อาจจะยังไม่มีความเชี่ยวชาญหรือคล่องตัวในด้านการทำตลาดมากนัก แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางที่จะเข้าไปดำเนินการ โดยอาจเข้าไปร่วมทุนในมิติของระบบการแบ่งปันผลกำไร (Profit Sharing) ได้หรือไม่ โดยให้มืออาชีพเข้ามาดำเนินการ และธนาคารเข้าไปมีส่วนร่วมโดยการนำสินค้าเข้าไปขายในราคาต้นทุน และเอากำไรทั้งหมดส่งตรงไปยังเกษตรกร
“ธ.ก.ส. มีสินค้า A Product อยู่แล้ว จำนวนมหาศาล แต่ที่ผ่านมาคนอาจจะยังไม่รู้ว่า A Product คืออะไร ดังนั้นจากนี้ไปเราแต่งตัวใหม่และเอาสินค้าเหล่านั้นขึ้นไปขายบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนที่มีกำลังซื้อสูงหรือคนทั้งประเทศรู้จักผลิตภัณฑ์ของ ธ.ก.ส. มากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าสินค้า A Product คุณภาพดี แต่หลาอย่างยังไม่ได้ทำให้ถูกรู้จักเป็นวงกว้าง ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเวลาขายไม่ได้ขายเป็นล็อตใหญ่ กำลังการผลิตไม่แน่นอน ตารางการผลิตไม่แน่นอน เหล่านี้เป็นเรื่องที่ ธ.ก.ส. จะต้องเข้าไปช่วยบริหารจัดการ โดยมองว่าทันทีที่เสนอคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ก็คาดว่าจะเริ่มดำเนินการแพลตฟอร์มซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ได้ภายในปีบัญชี 2567” นายฉัตรชัย กล่าว
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ต้องเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งธนาคารมีเงินทุนที่พร้อมจะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการแปรรูป และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร รวมถึงจะเข้ามาช่วยในเรื่องการนำองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ ด้านการดีไซต์ การออกแบบ ด้านการตลาด เพื่อให้สามารถขายสินค้าเหล่านี้ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ธ.ก.ส. มองว่าพัฒนาและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรจากปริมาณการขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างรายได้ผ่านการท่องเที่ยวในระดับชุมชน ทั้งชุมชนที่ธนาคารสนับสนุนอยู่ หรือผ่านเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หรือการท่องเที่ยวผ่านเส้นทางรถไฟ โดยหลักการสำคัญ คือ ต้องทำให้ขายได้ และเกษตรกรได้เงิน โดยการตัดตัวกลางออก เพราะปัจจุบันระบบขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น การขายออนไลน์ทำได้ดีขึ้น ดังนั้นหลังจากนี้จึงขึ้นอยู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ซื้อมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สับปะรดห้วยมุ่น' ขึ้นทะเบียน GI ยกระดับตลาดสินค้าเกษตรไทย
“คารม“ เผย ญี่ปุ่นขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “สับปะรดห้วยมุ่น” เป็นสินค้ารายการที่ 3 ต่อจาก กาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง ยกระดับตลาดสินค้าเกษตร
โฆษกรบ. โชว์สินค้าเกษตรของไทยขึ้นแท่นเบอร์ 1 อาเซียน
โฆษกรบ. เผย สินค้าเกษตรขึ้นแท่นที่ 1 อาเซียน ติดอันดับ 8 ของโลก หลัง 8 เดือน ส่งออกพุ่ง4.3แสนล้านบาท นายกฯสั่ง เร่งลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค ดันติด Top5 โลกให้ได้ต้นปีหน้า
เกษตรกรเฮ! ธ.ก.ส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สูงสุด 0.25%
ธ.ก.ส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สูงสุดร้อยละ 0.25 พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ส่งเสริมวินัยการออม