20 ก.พ. 2567 – นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรคนใหม่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงนโยบายผลักดันสมุนไพรเป็น ซอฟต์เพาเวอร์ไทย ว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่งมีนโยบายที่ต้องการให้สมุนไพรไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีมาตรฐานใหม่ที่ทั่วโลกยอมรับ เพิ่มรายได้การส่งออกของไทย โดยต้องการให้ คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาอาหารพิจารณาสมุนไพรไทย เป็นวาระหลักในการสนับสนุนเช่นเดียวกับกลุ่มอาหาร เพราะสมุนไพรไทยหลายชนิดเป็นวัตดุดิบหลักในการประกอบการอาหาร และปัจจุบันกระจายอยู่ทั่วโลก เพียงแต่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ทำให้มูลค่าส่งออกไม่มาก เพราะบางส่วนรวมในกลุ่มอาหาร ขณะที่กลุ่มสมุนไพรตรงยังขาดเรื่องมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ จึงกระทบต่อการส่งออก
“ดังนั้นภายในเดือนมี.ค. นี้จะเร่งหารือกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. เสนอแนวทางทั้งหมดเพื่อให้ประธานส.อ.ท.นำเสนอรัฐบาลและคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ต่อไป โดยปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร มีสมาชิกกว่า 70 ราย เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดสมุนไพร แต่มีผู้ผลิตทั่วประเทศกว่า 1,000 ราย กระจายในสมาคมและกลุ่มต่างๆ ซึ่งกลุ่มสมุนไพรหารือร่วมกันตลอด”นายสิทธิชัยกล่าว
นายสิทธิชัย กล่าวว่า การเดินหน้าผลักดันสมุนไพรไทยเป็นซอฟต์เพาเวอร์ จะสร้างโอกาสให้กับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมสมุนไพร อาทิ เกษตรกรผู้ปลูกที่จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและยั่งยืนขึ้น เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยสมุนไพรไทยมีศักยภาพสูงในตลาดโลกเพราะมีความหลากหลายของสายพันธุ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เข้มแข็ง จากข้อมูลตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลก ปัจจุบันมีมูลค่า 60,165.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.1 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ปี2573 ทะลุ 2.7 ล้านล้านบาท ตลาดหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชียถึง 57.6 % อเมริกา 22.1 % ยุโรป 22.1 % ยุโรป 18 % ตะวันออกกลาง 1.5% ออสเตรเลีย 0.9% ขณะที่ไทยส่งออกพืชสมุนไพร ปี 2566 ประมาณ488,970 ล้านบาท เป็นผู้นำการส่งออกสมุนไพรอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ในตลาดโลกยังไม่ติด 1 ใน 10 เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านมาตรฐานการผลิต จำเป็นต้องให้หน่วยงานเข้าแก้ปัญหา และสนับสนุนโดยด่วน
นายสิทธิชัย กล่าวว่า จากศักยภาพของไทยและโอกาสที่สามารถทำได้แต่ต้องได้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้ง 1.การผลักดันเป็นวาระหลักของซอฟต์พาวเวอร์สาขาอาหาร 2.ขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยพาผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด การส่งออกไปทั่วโลก3.ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านแหล่งทุน เพราะปัจจุบันมาตรฐานระดับโลกต่างๆจะพิจารณาจากขนาดโรงงาน เครื่องจักร ทำให้ปัจจุบันมีประมาณ 30 โรงงานที่ได้มาตรฐานโลกจากมูลค่าโรงงานหลายสิบล้านบาทไม่รวมที่ดิน 4.อยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน ทั้งการขึ้นทะเบียนเพื่อขายในประเทศและส่งออก เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการและลดต้นทุนประกอบการ
นายสิทธิชัย กล่าวว่า นอกจากนี้กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรยังมีกำหนดกลยุทธ์ในการยกระดับสมุนไพรไทยผ่าน “Economy Sharing” ด้วยการผนึกความร่วมมือ รัฐ-เอกชน มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง อาทิ การสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา และสร้างพันธมิตรเพื่อรวมกลุ่มเข้าถึงโรงงานการผลิตขนาดใหญ่ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกสมุนไพรไทยยังมีข้อจำกัดจากบางประเทศที่ไม่สามารถส่งออกไปได้ ขณะนี้ภาครัฐและเอกชนไทยจึงร่วมมือตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ เพื่อพัฒนายาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้จะส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐานด้วยการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายเมธา สิมะวรา อดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร กล่าวว่า ได้ฝาก นายสิทธิชัย สานต่อภารกิจและต่อยอดแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2567 ที่วางเป้าประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ที่ได้มาตรฐาน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ต่อยอดด้วยนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล 6 ด้านได้แก่ 1.การส่งเสริมสมุนไพรผ่านอาหารไทย จากครัวไทยสู่ครัวโลก 2.การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของเอสเอ็มอีด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม 3. เน้นตลาดในประเทศและซีแอลเอ็มวี 4. ยกระดับการผลิตด้วยเทคโนโลยี
5.ส่งเสริมให้ส่วนภูมิภาคใช้สมุนไพรเป็นกลไกการพัฒนา และ6. ส่งเสริมอุตสาหกรรมสารสกัด เพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขัน เน้นผลักดันให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น