รอเลย! “คลัง”เคาะมี.ค.ขายบอนด์ออมทรัพย์4หมื่นล้าน

20 ก.พ. 2567 – นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ(Foreign Currency Bond) ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่า ต้นทุน ความเสี่ยง รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ให้รอบด้าน เบื้องต้นในการศึกษาคาดว่าจะออกในวงเงินประมาณ 500-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่าในเดือน มี.ค. นี้จะมีความชัดเจน เพื่อเสนอให้ รมว.การคลังพิจารณา

ทั้งนี้ การออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศสำหรับประเทศไทย ไม่ได้มีการออกมานานมากกว่า 20 ปีการที่นำกลับมาพิจารณาในช่วงนี้ เพราะเห็นว่าจะสามารถช่วยให้รัฐบาลเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่กว้างขึ้น ลดโอกาสการเกิด Crowing out effect และทำหน้าที่เป็นอัตราอ้างอิง (Benchmark) ในการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศให้กับภาคเอกชน ที่ปัจจุบันพบว่า จากการที่ไม่มีอัตราอ้างอิง ทำให้เกิดต้นทุนการระดมทุนที่แพงขึ้น

อย่างไรก็ดี การออกพันธบัตรดังกล่าวมีข้อเสียเช่นเดียวกัน คือ มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนทางการกู้เงินของสกุลต่างประเทศอาจสูงกว่าการกู้จากตลาดในประเทศ โดยปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะสกุลเงินตราต่างประเทศคงค้างที่ 1.4% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด โดยวงเงิน 4 หมื่นล้านบาทที่ออกไปก็ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับการออกพันธบัตรภาครัฐทั้งหมดที่ 9 แสนล้านบาท

“ตอนนี้เราก็ตอบไม่ได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะออก ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องคุ้มค่า ดูทั้งข้อกฎหมายต่าง ๆ หากจะออกไป ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องคุ้มค่าถ้าจะออก เพราะว่ามันเป็นต้นทุนแน่นอนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมานั่งคุยกันก่อนด้วย เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลให้ไปศึกษาความเป็นไปได้คงต้องตอบให้เร็วที่สุด คาดว่าประมาณไม่เกิน มี.ค. นี้ ต้องมีความชัดเจน”นางจินดารัตน์ กล่าว

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศดังกล่าวจะทำให้เกิดการโจมตีค่าเงินนั้นเป็นข่าวที่บิดเบือน เป็นเฟกนิวส์ เพราะปัจจุบัน ยืนยันว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการเรื่องอย่างไร จะออกพันธบัตรดังกล่าวหรือไม่ หรือหากทำจริง ๆ ก็ยังต้องพิจารณาถึงสกุลเงินที่ออกด้วยว่าจะเป็นสกุลเงินใด

ส่วนการปรับแผนการก่อหนี้ใหม่ ที่ปรับเพิ่มขึ้น 5.6 แสนล้านบาท จากเดิม 1.94 แสนล้านบาท หรือมาอยู่ที่ 7.54 แสนล้านบาท ยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเพิ่มจากการดำเนินโครงการ Digital Wallet แน่นอน โดยวงเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น 5.6แสนกว่าล้านบาทนั้น ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ประมาณ 10% เป็นงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในแผนงาน และอีก 90% เป็นของรัฐบาล ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้สำหรับขาดดุลไปพลางก่อนโดยยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นโครงการเก่าทั้งหมด และการปรับแผนจะดำเนินการทุกไตรมาสอยู่แล้ว

ด้านแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลในปี 2567 มีกลยุทธ์ในการระดมทุนประมาณ 2 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าในเดือน มี.ค. นี้ จะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ (Saving Bond) 4 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่จะออกทั้งหมด 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีอายุทั้ง 5 ปี และ 10 ปี โดยหลัก ๆ ออกมาเพื่อทดแทนพันธบัตรที่จะครบอายุ ขณะเดียวกันในปีนี้ยังคาดว่าจะ Sustainability-Linked Bond (SLB) หรือ หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน ด้วย วงเงินประมาณ 2.5-3หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยหลังจากนี้ ตลาดคาดกันกันว่าจะอยู่ในทิศทางที่เริ่มนิ่งและกำลังจะเป็นขาลง ถึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำอะไรหลายอย่าง โดยในส่วนของต้นทุนดอกเบี้ยของ สบน. ปัจจุบันอยู่ที่2.74% ซึ่งปรับขึ้นมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 จากการกู้ระยะสั้นค่อนข้างมาก จากต้นทุนดอกเบี้ยช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ราว 2.4% แต่เชื่อว่าระยะถัดไปจะทยอยปรับตัวลดลง

“กรณีหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สบน. ก็ต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมผ่านเครื่องมือต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าภาพรวมอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ก็ต้องนำไปสู่การบริหารจัดการเพื่อทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยปรับตัวลดลงไปอีก” นางจินดารัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการบริหารหนี้ในปีงบประมาณ 2567 มาจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ที่ปัจจุบันข่าวดีเริ่มเข้ามาแล้ว หลังจากที่ช่วงโควิด-19 มีการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้ระยะสั้นตอนนี้ก็ต้องเริ่มปรับโครงสร้างหนี้เป็นระยะยาวมากขึ้น เพื่อฟิกซ์อัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลังปลื้ม 'ฟิทช์' คงเครดิตเรตติ้งไทยชมเปาะเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง

คลังปลื้ม “ฟิทช์” คงเรตติ้งประเทศ ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง เคาะจีดีพีปีนี้โตแจ่ม 3.7% ปี 2567 โตเพิ่มแตะ 3.8% มองท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนช่วยหนุน ชมเปาะภาคการคลังปึ๊ก ขาดดุลการคลังลดต่อเนื่อง สะท้อนรายได้ภาษีแข็งแกร่ง-หมดมาตรการดูแลโควิด-19