20 ก.พ. 2567 – นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ SENA เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการส่งเสริมการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) โดยใช้มาตรการหักลดหย่อนภาษีประจำปีไม่เกิน 2 แสนบาท 10 กิโลวัตต์ เพื่อสนับสนุนคนใช้โซลาร์ 9 หมื่นครัวเรือนต่อปีเพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า สำหรับประชาชนผู้ร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนว่า นับเป็นมาตรการที่ดีในการส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในระยะสั้น ซึ่งเห็นว่าภาครัฐควรมีมาตรการหรือกลไกที่จะส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่ควรรับซื้อไฟคืนในอัตราที่เหมาะสม และขยายสัดส่วนปริมาณรับซื้อไฟที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับไฟฟ้าส่วนเกินของครัวเรือน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเกิดแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาติดตั้งมากขึ้น เพื่อเดินหน้าตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนในภาคครัวเรือน
“นอกจากในเรื่องของมาตรการระยะสั้นและยาวดังกล่าว รัฐควรจะต้องมองในเรื่องการปลดล็อคกฎเกณฑ์หรือข้อกำหนดต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การเพิ่มข้อจำกัดขนาดหม้อแปลงของผู้ขายไฟฟ้ารวมกัน จากเดิมไม่เกิน 15% ให้ได้มากกว่า 15% ของขนาดพิกัดหม้อแปลง เพราะมองว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หากปลดล็อกส่วนนี้ได้ก็จะเป็นผลดีต่อทิศทางของการเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ” นางสาวเกษรา กล่าว
สำหรับปัจจุบันกระแสการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทยมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. กระแสรักษ์โลก เพราะทุกคนรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 2. ราคาโซลาร์รูฟท็อปเริ่มมีราคาที่ถูกลงซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด และ 3. เทคโนโลยีของโซลาร์รูฟท็อปยังมีการพัฒนาได้อีกเยอะ โดยเฉพาะในเรื่องแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บไฟฟ้า รวมถึงการปลดล็อคข้อกำหนดและกฎเกณ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น หากรัฐสามารถแก้ไขระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายไฟฟ้าจากภาคประชาชน จะมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ เข้ามาติดตั้งโซลาร์ในหมู่บ้านจัดสรรมากขึ้น
“หากแก้ระเบียบต่างๆ จะทำให้กลไกตลาดของราคาแผงโซลาร์มีความคุ้มค่าในการติดตั้ง แม้ว่าราคาปัจจุบันราคาจะลดลงกว่าอดีตก็ตาม แต่ก็ยังไม่เกิดการตื่นตัวติดโซลาร์เท่าที่ควร เนื่องจากไฟที่ผลิตได้ในช่วงกลางวันไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้บริโภคได้ เพราะด้วยปัจจัยการดำรงชีวิตที่ส่วนใหญ่ออกไปประกอบอาชีพในช่วงกลางวัน ดังนั้น รัฐควรมีโครงสร้างการรับซื้อไฟที่เหมาะสมและจูงใจมากกว่าเดิมที่ปัจจุบันรับซื้อไฟส่วนเกินที่ 2.20 บาท/หน่วยเท่านั้น”นางสาวเกษรา กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการต่างๆ ของเสนาฯ ได้ติดตั้งโซลาร์ให้กับลูกบ้าน ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม รวมกว่า 5,000 ยูนิต และยังมีการพัฒนานำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงมีระบบประมวลผลของการลดการใช้พลังงาน โดยร่วมกับZeroboard (Thailand) พันธมิตรจากญี่ปุ่น ที่เชี่ยวชาญในการให้บริการคลาวด์เทคโนโลยีสำหรับคำนวณและแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตแบบ Low-Carbon ให้กับที่อยู่อาศัย โดยเสนาฯ ได้การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิด “ZEH หรือบ้านพลังงานเป็น 0” โดยนำการออกแบบ Passive และ Active design ช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้าน เลือกใช้วัสดุประหยัดพลังงาน ช่วยกันความร้อน รวมถึงใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ ช่วยให้เจ้าของบ้านซื้อไฟฟ้ามาใช้น้อยที่สุด ดังนั้น ขณะนี้ที่อยู่อาศัยที่เสนาฯ พัฒนาขึ้น สามารถประหยัดได้สูงสุดตั้งแต่ระดับ18-50% รวมถึงการติดตั้ง EV Ready เครื่องชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า (EV Charger) เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เสนาฯ ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่อยู่อาศัย เดินหน้าสู่การเป็นองค์กรพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน Sustainability โดยมุ่งสู่การลดคาร์บอน หรือ Net Zero เพื่อสร้างความสมดุล 3 ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือสินค้ารักษ์โลก เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึง และสามารถใช้ชีวิตในแบบ Sustainability เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของทุกคน
“สิ่งที่เสนาฯ ทำไม่ใช่แค่การติดตั้งโซลาร์ แต่ต้องการทำให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตแบบ Sustainability ยกตัวอย่างเราขายบ้านได้ 5 หลัง แสดงว่าเรากำลังชักชวน 5 ครอบครัวมาสู่การใช้ชีวิต Sustainability และถ้าปีนี้ขายได้ 2,000 หลัง ก็มีเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ครอบครัว เพื่อให้พวกเขามาเป็นส่วนหนึ่งของ เสนาแอนด์ เดอะ แก็งค์ ในการช่วยกันรักษ์โลกใบนี้” นางสาวเกษรา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พีระพันธุ์' ไม่รู้เรื่องตั้งคกก.JTC บอกยังไม่ได้รับแจ้ง
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ร่วมทางทะเล ระหว่างไทยและ
'หมอวรงค์' อัด 'ภูมิธรรม' ยังสับสนเรื่องเกาะกูด
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานทราปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า นายภูมิธรรมยังสับสนเรื่องเกาะกูด
‘ภูมิธรรม’ ทุบฝ่ายต้านบิดเบือน MOU เกาะกูด ทำผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน เมื่อการเมืองบิดเบือน MOU เกาะกูด" ระบุว่าการจุดประเด็นทางการเมืองเรื่อง MOU 44 ในช่วงนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยในหลา