ไทยยูเนี่ยน โชว์ยอดขายปี 66 ลดลง 12.5% แต่ฐานะการเงินแข็งแกร่งจ่อปันผลอีก 0.24 บาท/หุ้น

ไทยยูเนี่ยน โกยยอดขายไตรมาสสี่ 35,529 ล้านบาท โต 4.8% จากกลุ่มธุรกิจแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยง พร้อมโชว์กระแสเงินสดแข็งแกร่ง 2,842 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปีจ่ายปันผลที่ 0.54 บาท

20 ก.พ. 2567 – นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2566 ด้วยยอดขาย 35,529 ล้านบาท ซึ่งเติบโตถึง 4.8% จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และมีกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานปกติที่ 1,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% จากไตรมาสก่อน

ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นจากผลการดำเนินงานปกติแข็งแกร่งถึง 17.8% ขณะที่บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ถึง 2,842 ล้านบาท และยังมีระดับหนี้ต่ำโดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 0.78 เท่า สะท้อนถึงการเติบโตที่มั่นคงและรับมือกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกได้อย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลังให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ราคา 0.24 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้ปี 2566 บริษัทฯ จ่ายเงินปันรวม 0.54 บาทต่อหุ้น

ส่วนภาพรวมผลประกอบการปี 2566 มียอดขายอยู่ที่ 136,153 ล้านบาท ลดลง 12.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์เนื่องจากการขนส่งทั่วโลกที่กลับสู่ภาวะปกติทำให้ลูกค้าไม่มีความจำเป็นต้องกักตุนสินค้า ขณะที่อัตรากำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานปกติ อยู่ที่ 4,499 ล้านบาท ลดลง 37.0% นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียว ในไตรมาส 4 ที่มูลค่า 18,433 ล้านบาท (527 ล้านดอลลาร์) จากแผนถอนการลงทุนส่วนน้อยในเรด ล็อบสเตอร์

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้อย่างเป็นเอกฉันท์เรื่องการขออนุมัติผ่อนผันหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของไทยยูเนี่ยนในปี 2566 ตามที่บริษัทฯ เสนอขอให้ไม่นับรวมรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชี จากแผนดังกล่าว เพราะเมื่อพิจารณาตัวเลขการหักรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชีแล้วไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด และความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ ประกอบกับทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตบริษัทฯ ในระดับ A+

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 4 กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เยือกแข็ง มียอดขายอยู่ที่ 12,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 8.0 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากกลยุทธ์การบริหารจัดการขนาดองค์กรที่ประเทศสหรัฐฯ และการบริหารจัดการระบบสินค้าคงคลังที่ดีขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มีอัตราเติบโต 22.5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าหลัก และระดับสินค้าคงคลังที่กลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงการนำกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มประเภทอาหารสัตว์เลี้ยงชนิดเปียกและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยในไตรมาส 4 ไทยยูเนี่ยนยังมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวก มูลค่าถึง 2,842 ล้านบาทมาจากความสามารถในการทำกำไร (EBITDA) ที่แข็งแกร่ง ประกอบการมีการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ

“ปีที่ผ่านมานับเป็นปีแห่งความท้าทายจากการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ที่กดดันตลาดที่ไทยยูเนี่ยนดำเนินธุรกิจอยู่ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมธุรกิจจะยังคงอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก แต่ไทยยูเนี่ยนก็สามารถรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ในไตรมาสสุดท้ายของปียังสามารถทำกำไรได้ดีในทุกกลุ่มธุรกิจ” นายธีรพงศ์ กล่าวว่า

สำหรับสัดส่วนยอดขายแบ่งเป็นรายกลุ่มธุรกิจ ประจำปี 2566 ประกอบด้วย กลุ่มอาหารกระป๋อง 47% ตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เยือกแข็ง 35 % กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง 11% และกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ 7 % และเมื่อพิจารณาสัดส่วนยอดขายตามภูมิภาค แบ่งเป็น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา 41 % ยุโรป 30 % ไทย 11% และอื่น ๆ 18 %

“แม้ว่าปีนี้จะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง แต่เรามั่นใจว่าการวางกลยุทธ์องค์กรเพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ที่ยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักของไทยยูเนี่ยน เช่น กลุ่มอาหารกระป๋อง, กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เยือกแข็ง และกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตพร้อมสร้างผลกำไรและมูลค่าเพิ่ม เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกภาคส่วนได้มากยิ่งขึ้น” นายธีรพงศ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

AIS รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567

AIS รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2567 ทำรายได้รวมอยู่ที่ 52,209 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 8,788 ล้านบาท ในขณะที่กำไร EBITDA หรือกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย

IRPC เผยผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรก ปี 2567 กำไร 812 ล้านบาท รุกขายน้ำมันอากาศยานรองรับอุตฯ การบินทั่วโลก

IRPC มีรายได้สุทธิกว่า 148,710 ล้านบาท ในงวดครึ่งแรกของปี 67 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับงวดครึ่งแรกของปี 66 จากราคาขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

กองทุนน้ำมันฯ สภาพคล่องดี ยันมีวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทพออุ้มราคาดีเซล

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) สรุปผลการดำเนินงานคาดปี 2566 ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องดีขึ้น พร้อมบริหารจัดการเงินล็อตใหม่ที่เหลือวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทช่วยรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานตรึงราคาดีเซล 30 บาท/ลิตร และก๊าซ LPG ตามมติคณะรัฐมนตรี