ประเดิมเดือนแรกของปี เงินเฟ้อติดลบ 1.11% พาณิชย์ย้ำยังไม่เจอเงินฝืด

เงินเฟ้อ ม.ค.67 ติดลบ 1.11% ลดลงต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ต่ำสุดในรอบ 35 เดือน เหตุมาตรการรัฐลดน้ำมัน ค่าไฟ ผักสด เนื้อสัตว์ลง ราคาสินค้าอื่น ๆ ทรงตัว และฐานปีก่อนสูง ย้ำไม่มีสัญญาณเงินฝืด

5 ก.พ. 2567 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมกราคม 2567 เท่ากับ 106.98 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.18 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ถือเป็นลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน จากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งฐานราคาเดือนมกราคม 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ    

อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ 0.83 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 3 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงร้อยละ 1.11  ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.13 ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 E20 E85 และค่ากระแสไฟฟ้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน) 

นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่องตามการจัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 1.06 ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ

“เรื่องเงินฝืด มีคำถามมา 2-3 เดือนแล้ว ก็อย่างที่บอก มันเป็นตัวชี้วัดหนึ่ง ที่บอกว่าลบติดต่อกัน 3 เดือน เป็นเงินฝืด แต่ก็ต้องไปดูว่าสินค้าส่วนใหญ่ลดลงหรือเปล่า ก็มีสูงขึ้น ลดลง คงที่ และยังต้องไปดูที่เงินเฟ้อ มันเฟ้อโดยตัวของมันเอง หรือมีกลไกแทรกแซง ซึ่งมีการแทรกแซง โดยเฉพาะนโยบายลดค่าครองชีพ ทั้งน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่เป็นตัวหลัก สรุป คือ ยังไม่ฝืดหรอกครับ ยังไม่น่าเป็นห่วง”นายพูนพงษ์กล่าว

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ได้แก่ การตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์ 17.77 ล้านราย และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 และ ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญลดลง รวมถึงทำให้ค่าระวางเรือและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้น เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 0.7) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง