กกพ.ชี้การกำกับพลังงานยากขึ้น ย้ำไทยยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ชี้พลังงานหมุนเวียนยังพึ่งพาไม่ได้ 100% พร้อมเผยความท้าทายใหม่ ทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานใหม่ และความพร้อมของโครงข่ายไฟฟ้ารับการซื้อขายในอนาคต
5 ก.พ. 2567 – นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่าความท้าทายในการการกำกับดูแลกิจการพลังงานในระยะต่อไป คือการสร้างความมั่นคงและความมีเสถียรภาพทางด้านพลังงานที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ขณะเดียวกันการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงก๊าซในระบบการผลิตไฟฟ้าหลักยังมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อรองรับความมั่นคงและความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถพึ่งพาได้ 100% ถึงแม้ว่าภาคนโยบายจะวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่องก็ตาม
“ในมิติด้านสังคมมองว่าประเทศไทยยังมีนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าอัตราเดียวกันทุกพื้นที่เพื่อกระจายความเจริญ มีนโยบายที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสภาวะวิกฤตพลังงาน และมีนโยบายไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะเพื่อความปลอดภัยประชากรโดยไม่คิดค่าไฟฟ้า ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ใช้ไฟฟ้าเป็นกลไกสนับสนุนสังคมให้มีการใช้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน” นายคมกฤช กล่าว
ขณะเดียวกันความท้าทายในการการกำกับดูแลกิจการพลังงานในระยะต่อไปมีทั้งหมด 4 ด้าน ดังนี้ 1. การกำกับดูแลเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ เช่น พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอนในประเทศ 2. การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มากที่สุดในราคาที่เหมาะสม
3.การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ภาคพลังงานไทยมีความได้เปรียบซึ่งสามารถดึงเอาศักยภาพและความได้เปรียบเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และแหล่งอื่นๆ รวมทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศให้เสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกันก็สามารถช่วยเสริมการให้บริการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ สถานการณ์รองรับความผันผวนพลังงานและยังสามารถพัฒนาให้เป็นหลุมกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย และ 4. การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสะอาดได้ในระดับราคาที่เหมาะสม
“การวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเทคโนโลยีประกอบด้วย เช่น การประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) การพัฒนาการของระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่รวดเร็ว เป็นต้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทันเวลา จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ลดราคาพลังงาน และสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ” นายคมกฤช กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกพ.ประกาศลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย อย่างเป็นทางการ
กกพ.ประกาศ ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย ตามมติ ครม. มีผลตั้งแต่ ก.ย. 66 โดยที่จ่ายค่าไฟฟ้าไปแล้ว จะได้รับการหักส่วนลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวในรอบบิลเดือนต.ค.นี้ต่อไป
กกพ.เคาะค่าเอฟทีงวดใหม่ ชง 3 สูตร ค่าไฟต่ำสุด 4.45 บาท
กกพ.เปิดรับฟังความเห็น 7 - 21 ก.ค. นี้ ก่อนเคาะค่าเอฟที งวดก.ย. - ธ.ค. 66 เผย 3 กรณี ยึดการคืนหนี้ กฟผ. เป็นหลัก ส่งผลทางเลือกค่าเอฟทีต่ำสุดที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้า 4.45 บาท หรือใช้กรณีจ่ายหนี้คืนทั้งหมด หนุนค่าไฟแพงสุด 6.28 บาทต่อหน่วย
กกพ. เผย 7 ก.ค. เตรียมแจงผลการคำนวณเอฟทีงวดสุดท้ายของปี
กกพ.เผย 7 ก.ค. พร้อมเปิดเวทีชี้แจงผลการคำนวณเอฟทีงวดสุดท้ายของปี เผยมีทางเลือกทั้งลดราคาและตรึงในระดับเดิม ด้านเอกชนโอดต้นทุนยังกระทบ โชว์แนวทางลดค่าไฟได้อีก