‘คมนาคม’ กางแผนลงทุนปี 67 ทุ่มงบ 3.89 แสนล้านบาท

‘คมนาคม’โชว์แผนลงทุนปี 67 ดัน 31 โครงการทุ่มงบ 3.89 แสนล้านบาท ลุยพัฒนาระบบรางหนุนการท่องเที่ยว เร่งแก้ปัญหาการเดินทางไร้รอยต่อเร่งลงทุนมอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่ เฟส2

31 ม.ค.2567-นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ปี 2567 และปี 2568 ว่า กระทรวงฯ ได้จัดทำแผนงานและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสอดรับกรอบนโยบายของรัฐบาล นโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยคำนึงถึง 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านความปลอดภัย ด้านคุณภาพชีวิต และด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับภาพรวมโครงการลงทุนด้านคมนาคม ในปี 2567 มีโครงการที่จะเปิดให้บริการ จำนวน 64 โครงการ และมีโครงใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 31 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนรวม 389,750 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโครงการลงทุนใหม่ในปี 2568 จำนวน 57 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนรวม 263,016 ล้านบาท 

นายสุริยะ กล่าวว่าโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 31 โครงการ แบ่งออกเป็น การขนส่งทางบก จำนวน 21 โครงการ อาทิ มอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตอนบางบัวทอง – บางปะอิน วงเงิน 15,260 ล้านบาท, มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยาย M7 เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 4,508 ล้านบาทรวมไปถึงโครงการทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ – ลำลูกกา) วงเงิน 24,060 ล้านบาท

โครงการ ทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ตอนกะทู้ – ป่าตอง วงเงิน 16,494 ล้านบาท และการผลักดันรถโดยสารพลังงานสะอาดขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 29,236 ล้านบาท และการพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย วงเงิน 2,887 ล้านบาท 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการลงทุนการขนส่งทางรางในปี 2567 มีจำนวน 6 โครงการ อาทิ รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,468 ล้านบาท, รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา 10,670 ล้านบาท, รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช 4,616 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี วงเงิน 37,527 ล้านบาท 

นอกจากนี้ แผนพัฒนาโครงการด้านคมนาคมยังให้ความสำคัญในการลงทุนการขนส่งทางน้ำ โดยมีโครงการใหม่ที่เตรียมก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 2 โครงการ คือ เปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับยกขนตู้สินค้าในท่าเรือ (RTG) เป็นพลังงานไฟฟ้า ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 จำนวน 913 ล้านบาท และพัฒนาท่าเรือภูมิภาคเชื่อมโยงกระบี่ – พังงา – ภูเก็ต (วงแหวนอันดามัน) ได้แก่ ท่าเรือมาเนาะห์ และท่าเรือช่องหลาด จังหวัดพังงา

ขณะเดียวกันยังมีโครงการลงทุนการขนส่งทางอากาศ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศตะวันออก วงเงิน 9,000 ล้านบาท และก่อสร้างขยายทางขับและลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินและองค์ประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช วงเงิน 500 ล้านบาท 

นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้วางแผนพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคม เป็นการพัฒนาโครงการใหม่ในปี 2568 เบื้องต้นจำนวน 57 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 263,016 ล้านบาท ซึ่งหากจะมีการแบ่งอันดับความสำคัญที่จะต้องเร่งลงทุนของกระทรวงคมนาคมในปี 2568 กระทรวงฯ จะเน้นทิศทางการลงทุนเมกะโปรเจคทางระบบราง เพราะนับเป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว โครงการแก้ปัญหา Missing Link รวมถึงโครงการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ลดอุบัติเหตุในการขนส่ง

สำหรับการลงทุนด้านระบบรางที่จะเกิดขึ้นนั้น กระทรวงฯ จะเดินหน้าเร่งรัดการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2569) จำนวน 7 เส้นทาง เพื่อเพิ่มโครงข่ายระบบรางระยะทาง 1,479 กิโลเมตร และเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ให้แล้วเสร็จตามแผน

นอกจากนี้ จากนโยบายรัฐบาลได้เดินหน้าระบบรางสร้างรถไฟฟ้าครบ 500 กิโลเมตร ยังคงมีแผนพัฒนารถไฟฟ้า ระยะที่ 2 ยกตัวอย่างเช่น ทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีบางหว้า ไปสายสีม่วง ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผ่านหมู่บ้านจัดสรร ประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก เป็นเส้นทางที่ควรเร่งดำเนินการ เช่นเดียวกันกับส่วนต่อขยายอื่นๆ ที่จะต้องมาพิจารณาการก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อให้ตอบโจทย์นโยบายทุก 1 กิโลเมตร ประชาชนต้องสามารถเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าได้

เพิ่มเพื่อน