'จุลพันธ์' รับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ล่าช้า ไม่ทันเดือน พ.ค. แน่นอน

“จุลพันธ์” ยืนยันเดินหน้าแจกประชาชนหัวละหมื่นบาทตามเดิม แจงเตรียมความพร้อมตอบคำถาม ป.ป.ช. เต็มสูบ รับโครงการดีเลย์กระทบแรงส่งเศรษฐกิจโตแผ่ว ระบุรัฐบาลมีอำนาจเต็มฟันธงเศรษฐกิจ “วิกฤต” หลังพบหนี้ครัวเรือน-หนี้ประชาชน-หนี้เอกชนบวมเป่ง

30 ม.ค.2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า โครงการ Digital Wallet ของรัฐบาลไม่ทันเดือน พ.ค. 2567 แน่นอน แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลาใหม่ที่ชัดเจนว่าจะเป็นเมื่อไหร่ แต่ส่วนตัวหวังว่าจะเลื่อนไปไม่นาน โดยระหว่างนี้ยังอยู่ระหว่างรอหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงยังไม่ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการเตรียมพร้อมรับมือว่าข้อเสนอแนะชอง ป.ป.ช. จะออกมาเป็นอย่างไร เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมทั้งมองว่าหลังจากรัฐบาลได้รับเอกสารจาก ป.ป.ช. แล้ว ก็ควรจะถึงจุดจบที่รัฐบาลจะต้องมาตัดสินใจว่าจะเอาอย่าไร จะเดินหน้าโครงการในรูปแบบใด ถึงเวลานั้นมันควรต้องมีคำตอบแล้ว

“เอกสารของ ป.ป.ช. ที่หลุดออกมาก่อนหน้านั้น รัฐบาลก็ยังไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วเอกสารจริงจะเป็นอย่างไร แต่ก็ถือว่าทำให้รัฐบาลได้เห็นโจทย์พอสมควรว่าข้อห่วงใยของ ป.ป.ช. ในแต่ละประเด็นคืออะไร เราก็มีหน้าที่ในการตอบคำถามในส่วนที่เราตอบได้ อะไรที่ตอบไม่ได้เราก็เตรียมการว่าเมื่อมาแล้วเราจะดำเนินการอย่างไรเพื่อที่จะให้ข้อห่วงใย ข้อเสนอแนะเหล่านั้น มันมีคำตอบในตัวของมัน ส่วนเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการเปลี่ยนกรอบการกู้เงินจากการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นการออก พรก. กู้เงินหรือไม่นั้น ยืนยันว่ายังไม่ได้มีการพูดคุย ถ้าถามในข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเป็นกลไกการกู้เงินแบบใดก็ตามที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาล เรายังมีเครื่องมือนั้นอยู่เสมอ แต่ ณ ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดคุยในส่วนนั้น” นายจุลพันธ์ กล่าว

โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีการปรับนโยบายหรือเงื่อนไขของโครงการอย่างแน่นอน แต่ในช่วงที่โครงการล่าช้าออกไปนั้น รัฐบาลมีกลไก หรือเครื่องมืออีกมากมายที่จะมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำแค่โครงการ Digital Wallet โดยโครงการดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อพี่น้องประชาชนเท่านั้น โดยมาตรการที่รัฐบาลดูอยู่ มีทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุนและกระตุ้นการบริโภค แต่ยังไม่สามารถชี้แจงในรายละเอียดได้ รวมทั้งได้มีการเร่งด้านงบประมาณ ซึ่งเป็นอีกกลไกสำคัญ โดยจะพยายามให้จบในสภาก่อนเดือน เม.ย. 2567 รวมถึงอาจจะมีการเปิดให้มีการลงนามในสัญญา TOR ก่อนกรณีจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมหากงบประมาณเรียบร้อย โครงการจะได้เดินหน้าต่อเนื่องได้ทันที

ส่วนระยะเวลาของโครงการ Digital Wallet ที่ล่าช้าออกไปนั้น แน่นอนว่าผลของมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการเติมเงินในลักษณะนี้ที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจก็จะต้องล่าช้าออกไปด้วย ตรงนี้เป็นเรื่องปกติทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเมื่อโครงการล่าช้าออกไป ผลกับเศรษฐกิจก็ล่าช้าออกไป ดังนั้นความคาดหวังกับผลของโครงการที่จะได้ในปี 2567 ต่อระบบเศรษฐกิจก็อาจจะลดน้อยลง ถือเป็นเรื่องธรรมดา

สำหรับกรณีที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัว 1.8% ไม่ใช่แค่จาก สศค. หน่วยงานเดียวเท่านั้น แต่เป็นตัวเลขที่ทุกหน่วยงานมีการคุยกัน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่จะออกตัวเลขในเดือนหน้า แต่ก็เชื่อว่าตัวเลขจะไม่ดิ้นหนีไปกว่านี้ และคงไม่มีใครจะไปเปลี่ยนตัวเลขได้ เพราะตัวเลขนั้นเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง และชี้ชัดได้ว่า ณ ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา ส่วนปีหน้าที่ สศค. มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% นั้น ทราบว่าเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้รวมโครงการ Digital Wallet ของรัฐบาล

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า คำว่า “วิกฤต” นั้น ไม่มีใครเป็นคนกำหนดได้ หากถามว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ คงเป็นเรื่องปัจเจกษ์ของบุคคล หากถามคนนี้อาจจะบอกว่าใช่ แต่ถามอีกคนอาจจะบอกว่าไม่ใช่ แต่มองว่าเรื่องนี้รัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในการบริหารราชการ ดังนั้น ณ ขณะนี้หากรัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจวิกฤตและถูกกรอบกฎหมายทั้งหมด รัฐบาลก็จะเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนแค่นั้นเอง งานอื่นก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ เช่น ป.ป.ช. ในการติดตามตรวจสอบ

ส่วนถ้า ป.ป.ช. จะมาอบกว่าโครงการ Digital Wallet คอร์รัปชัน ถามว่าตอบได้อย่างไร มันไม่ใช่ เพราะโครงการยังไม่ได้เริ่ม แต่ถ้าบอกว่า ป.ป.ช. เป็นห่วงในประเด็นใด อันนี้รัฐบาลพร้อมรับฟังและจะหาหนทางแก้ไข และแน่นอนว่าเมื่อโครงการเสร็จแล้วมีการดำเนินการตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ หากมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น ตรงนี้จึงจะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ทั้งนี้ กรณีศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง วิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงิน Digital Wallet นั้น รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็น เพราะถือว่าเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าตรงนี้จะเป็นตัวตัดสินว่ารัฐบาลควรจะเดินในทิศทางใด โดยในโพลที่ออกมาส่วนมากจะห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจว่าวิกฤตหรือไม่ แน่นอนว่าคนที่อยู่ระดับบนคงไม่รู้สึกเดือดร้อน แต่พี่น้องประชาชนระดับล่าง ณ นาทีนี้ก็เข้าขั้นแล้ว อยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย

“สถานการณ์ตอนนี้เหมือนกับเป็นความถดถอยทางเศรษฐกิจแบบหนึ่งที่เกิดจากภาวะที่ภาระหนี้ภาคครัวเรือนสูง ภาระหนี้ประชาชนสูง และภาระหนี้ของภาคเอกชนก็สูง ถามว่าใครคิดในเรื่องการลงทุนบ้าง มันไม่มีใครที่มีความพร้อมจะไปคิดเรื่องการลงทุนอยู่แล้ว ถ้าเป็นประชาชนก็จะคิดแต่เรื่องการประทังชีวิต คิดในเรื่องการลดหนี้สิน ภาคเอกชนก็โฟกัสเรื่องการลดโครงสร้างหนี้ของตัวเอง ตรงนี้ทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก จึงได้เห็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาโดยตลอด” นายจุลพันธ์ ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา นายกฯอิ๊งค์ นั่งบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจวันนี้ เคาะแก้หนี้ - แจกเงินหมื่นรอบใหม่

"คลัง" เตรียมชงบอร์ดนโยบายฯ เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแพ็กเกจใหญ่ 19 พ.ย.นี้ เดินหน้า "แก้หนี้-อุ้มอสังหาฯ-มาตรการภาษี-ดิจิทัลวอลเล็ต" ปูพรมกระตุ้นตั้งแต่ปลายปีนี้- จนถึงปีหน้า

เปิดหนังสือ ‘หมอวรงค์’ ร้อง กกต. สอบ 4 ประเด็นใหญ่ ฟัน ‘ทักษิณ’ ปราศรัยอุดรฯเข้าข่ายผิดกม.

ในการปราศรัยที่อุดรที่ผ่านมา จริงอยู่คุณมีสิทธิ์เสรีภาพที่จะพูด อยากจะปราศรัย เป็นเรื่องของคุณ แต่คุณต้องรับรู้นะครับว่า บ้านเมืองมีขื่อมีแป ถ้าคุณทำให้สงสัยได้ว่า มีความเสี่ยงที่ทำผิดกฏหมาย

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

คกก.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นัดประชุมครั้งแรก 19 พ.ย. ถกแจกเงินดิจิทัลรอบใหม่

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และหน่วยงานเศรษฐกิจว่า ในวงหารือได้เคาะวันประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ