ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯดิจิทัล Q4 ตก ผู้ประกอบการกังวลภาวะเศรษฐกิจ

ดีป้า เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 4/2566 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 3 เล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินบาท ความกังวลจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของภาครัฐที่ล่าช้า ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ในทางกลับกันอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ชี้ผู้ประกอบการคาดหวังให้ภาครัฐผลักดันให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ระหว่างผู้ประกอบการ พัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเข้าสู่ตลาดแรงงาน และออกมาตรการเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพเข้าสู่ประเทศ

29 ม.ค. 2567 – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 4 ประจำปี 2566 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 53.0 ปรับตัวลงจากระดับ 53.2 ของไตรมาสที่ผ่านมาและยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น โดยปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านคำสั่งซื้อฯ และด้านการลงทุนปรับตัวลดลง ขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุนผู้ประกอบการ และด้านการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศจากการอ่อนค่าของเงินบาทและความล่าช้าในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ของภาครัฐ นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ในทางกลับกันอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น

หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่า เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 50.9 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 56.3 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 55.7 และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 52.8 ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวที่มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 47.0 ในไตรมาสนี้

“ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เร่งพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ออกมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การลงทุน รวมถึงดึงดูดบุคลากรศักยภาพสูงจากต่างประเทศ นอกจากนี้ภาครัฐควรสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อให้เกิดระบบนิเวศทางการค้าระดับภูมิภาค และส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ระหว่างผู้ประกอบการ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 4
ประจำปี 2566 ผ่านช่องทางการสื่อสารของ ดีป้า ไม่ว่าจะเป็น www.depa.or.th/th/depakm/digital-indicators, LINE OA: depaThailand และเพจเฟซบุ๊ก depa Thailand

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดีป้า' ลุยขอนแก่น นำร่องจัดโรดโชว์เรียนรู้ทักษะโค้ดดิ้ง ประสบความสำเร็จเกินคาด

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างกำลังคน

depa ชวนเด็กไทยร่วมแข่งขันทักษะ 'โค้ดดิ้ง' ในรายการ Coding War

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ขอชวนน้อง ๆ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พร้อมคุณครูผู้สอนจากสถาบันการศึกษาทั่วไทยร่วมประชันไอเดีย พร้อมสร้างสรรค์ผลงานด้านโค้ดดิ้งใน “Coding War” รายการแข่งขันทักษะด้านโค้ดดิ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ

'เศรษฐา' ย้ำแจกเงินดิจิทัลได้แน่ไตรมาส 4 ระหว่างรอจ่อผุดมาตรการอื่นกระตุ้น ศก.

นายกฯ มั่นใจแจกเงินดิจิทัลได้แน่ไตรมาส 4 ชี้ออกดอกผลไตรมาส 1-2 ปีหน้า ระหว่างรอเตรียมผุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่แถลงต่อรัฐสภา ลั่นมาถูกทาง

รัฐบาลเอาจริง! เพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล

'ชัย' เผยรัฐบาลมุ่งเตรียมความพร้อมวางรากฐานอนาคต เปิดโครงการ Coding for Better Life สร้างระบบนิเวศดิจิทัลครอบคลุม 4 ด้านหลัก เพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ