BRICS Plus...การขยายขั้วอำนาจใหม่ของโลกที่พร้อมคานขั้วอำนาจเดิม

28 ม.ค. 2567 -สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านครับ เปิดหัวปีมังกรมาด้วยสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เข้มข้นขึ้น และมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจและการเมืองโลกต่อจากนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 กลุ่มประเทศ BRICS-5 ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเทศที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ (Brazil, Russia, India, China and South Africa: BRICS) ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่อีก 5 ประเทศอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน อียิปต์ และเอธิโอเปีย ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 10 ประเทศ ภายใต้ชื่อ BRICS Plus นับเป็นสัญญาณการขยายขั้วอำนาจใหม่ของโลกที่จะก้าวขึ้นมาท้าทายขั้วอำนาจเดิมอย่างชาติตะวันตกที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ โดยหลังจากนี้ BRICS Plus จะมีบทบาทอย่างชัดเจนในการคานอำนาจกับชาติตะวันตกบนเวทีโลกในหลายมิติ ซึ่งผมขอสรุปเป็น “3 คาน” ดังนี้

คานอำนาจทางเศรษฐกิจ BRICS Plus จะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก 7 ประเทศ หรือกลุ่ม G7 (ประกอบด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐ) โดยตรง เนื่องจากจำนวนประชากรรวมกันที่มากถึงราว 3.6 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจก็ใหญ่ราว 1 ใน 3 ของ GDP โลก ปัจจัยดังกล่าวส่งเสริมให้ BRICS Plus มีบทบาทบนเวทีเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการค้าการลงทุน นอกจากนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสมาชิก BRICS Plus ยังจะช่วยลดการพึ่งพาเศรษฐกิจของชาติตะวันตกลง ขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพันธมิตรใน BRICS Plus ด้วยกันเอง รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ

คานอำนาจทางการเมือง การที่ BRICS Plus สร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งและขยายวงกว้างมากขึ้นก็จะทำให้กลุ่มขั้วอำนาจใหม่เข้มแข็งขึ้น และมีอำนาจต่อรองมากขึ้นบนเวทีการเมืองโลก ทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจโลกได้ดีขึ้นซึ่งจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับประเทศที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กลุ่มขั้วอำนาจเดิมของโลก ดังเห็นได้จากกรณีของรัสเซียที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรครั้งใหญ่จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัสเซียหันมาเสนอขายน้ำมันราคาพิเศษให้กับประเทศพันธมิตร โดยเฉพาะสมาชิกใน BRICS Plus อย่างจีน อินเดีย และบราซิล ซึ่งกลายเป็น 3 ใน 5 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียในปัจจุบัน

คานอำนาจทางพลังงาน แม้กระแสพลังงานสะอาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วจะทำให้ความต้องการใช้พลังงานฟอสซิลที่มาจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง แต่ปัจจุบันภาพรวมการใช้พลังงานโลกที่ยังต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ทำให้การดึงซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิหร่านเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ถือเป็นแต้มต่อสำคัญที่ทำให้ BRICS Plus ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลในการกำหนดเกมพลังงานโลก สะท้อนจากปริมาณการผลิตน้ำมันต่อวันของ BRICS Plus ที่เพิ่มขึ้นเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ขณะที่ปริมาณส่งออกน้ำมันคิดเป็น 39% ของปริมาณส่งออกน้ำมันรวมของโลก และมีปริมาณน้ำมันสำรองคิดเป็น 46% ของทั้งโลก BRICS Plus จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญด้านอุปทานพลังงานของโลก และอาจท้าทายบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐในระบบเศรษฐกิจโลก หาก BRIC Plus หันมาเลือกใช้สกุลเงินอื่นในการซื้อขายน้ำมันแทนดอลลาร์สหรัฐ

จะเห็นได้ว่าการเติบโตของ BRICS Plus นับเป็นการเพิ่มบทบาทในการคานอำนาจต่อขั้วอำนาจเดิมบนเวทีโลก แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความท้าทายต่อเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจเดิมและขั้วอำนาจใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน ตลอดจนทิศทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในหลายด้าน ทำให้ผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในมิติต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที.

โดย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร

กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอ็กซิมแบงก์' โชว์ปล่อยกู้ทุบสถิติ

“เอ็กซิมแบงก์” อวดผลงานปี 66 ปล่อยสินเชื่อใหม่พุ่ง 7 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โกยกำไร456 ล้านบาท ปี 67ปักธงภารกิจพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เดินหน้า Green Development Bank

EXIM BANK ชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถึง 17 เม.ย. นี้

EXIM BANK ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นของขวัญปีใหม่ไทยแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs โดยมีกำหนดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปและ SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์ จาก 6.00% ต่อปี เป็น 6.25% ต่อปี ซึ่งยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2566 เป็นต้นไป