“สุริยะ”ยันคมนาคมพร้อมเดินหน้า”แลนด์บริดจ์” มั่นใจเกิดแน่ภายในรัฐบาลนี้ นักลงทุน“ดูไบ-อินเดีย”สนใจ เดือนหน้าพุ่งเป้าโรดโชว์บริษัทนักลงทุนที่จีนต่อ พร้อมเล็งตั้งกองทุนแลนด์บริดจ์ชดเชยประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ กรรมสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน ประกาศแผนขับเคลื่อนคมนาคมเดินหน้าลดต้นทุนโลจิสติกส์
25 ม.ค. 2567 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ และมั่นใจว่าโครงการจะเกิดขึ้นแน่นอนภายในรัฐบาลนี้ จากที่ก่อนนี้กระทรวงคมนาคมได้มีการโรดโชว์ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และสวิสเซอร์แลนด์ และพบว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากดูไบ หรือ ดูไบ เวิล์ดและนักลงทุนจาก อินเดีย ล่าสุดเดือนหน้าจะเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศจีน โดยเป้าหมายการโรดโชว์หลังจากนี้จะเน้นบริษัทที่พร้อมเข้ามาลงทุนโดยตรง
ทั้งนี้ในการดำเนินการในโครงการภาพรวมจะมีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งการลงทุนเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ภาครัฐจะมีหน้าที่เพียงการเวนคืนที่ดินเท่านั้น อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ในหลายๆครั้ง ทางนายกรัฐมนตรีได้มีความกังวลว่า ในส่วนของพื้นที่ประชาชนที่อยู่อาศัย หรือ ทำกินแต่อยู่ในแนวเขตทางที่ต้องเวนคืน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิกรรมสิทธิในที่ดิน ทางภาครัฐจะช่วยอย่างไรบ้างนั้น ในเรื่องนี้ทางกระทรวงคมนาคมจึงมีแนวคิดว่า หากประกาศเงื่อนไขเชิญชวนผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการในโครงการ จะระบุให้ เอกชนที่ลงทุนจะต้องตั้งกองทุนแลนด์บริดจ์ เพื่อชดเชยประชาชนที่ไม่มีเอกสารกรรมสิทธิที่ดิน
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 68-83 โดยจะมีการคัดเลือกเอกชนในรูปแบบการประกวดราคานานาชาติ สัญญาเดียว มีระยะเวลาสัญญาในการบริหาร 50 ปี ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่ง, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางรถไฟ ในส่วนของกลุ่มนักลงทุนนั้น จะต้องมีการรวมกลุ่มกันของทั้งผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการท่าเรือ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนด้านอุตสาหกรรม ซึ่งกฎหมายใหม่จะถูกร่างขึ้น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดสิทธิพิเศษให้กับนักลงทุน
ทั้งนี้ ภายใต้ระยะเวลาสัญญา 50 ปี จากการประเมิน พบว่า นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ด้านการเงินไม่น้อยกว่า 10% โดยมีระยะเวลาคืนทุนที่ 24 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นการประเมินจากรายได้จากการบริหารท่าเรือ และขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนมีการพัฒนาเพิ่มเติมจากการอุตสาหกรรม และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยนั้น จะช่วยสร้างผลประโยชน์ด้านการเงิน และระยะเวลาคืนทุน จะดีกว่าการประเมินข้างต้นอย่างแน่นอน
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ การเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาร่วมลงทุน โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนรับสัญญาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มโรดโชว์ในต่างประเทศบ้างแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากนักลงทุนและสายการเดินเรือ ส่วนขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ คาดว่าโรดโชว์จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2569 ส่วนการเวนคืนที่ดินจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2569 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2569 โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573
นายสุริยะ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ปี 2567 และปี 2568 วันที่ 24 ม.ค. 2567 ว่า กระทรวงคมนาคมได้นำนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ เช่น ด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม เป็นต้น โดยได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ไปพิจารณว่า จะดำเนินการอย่างไรให้ตอบโจทย์ดังกล่าว เพื่อยกระดับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ 10.5% ต่อ GDP ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะลดต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ 9.5-9.8% ต่อ GDP ภายในระยะเวลา 5 ปี ดังเช่นในประเทศที่เจริญแล้ว มุ่งเน้นการขนส่งสินค้าทางรางเป็นหลัก โดยกระทรวงคมนาคม จึงมีแผนในการพัฒนารถไฟทางคู่ เชื่อมต่อกับการขนส่งสินค้าทางถนนโดยรถบรรทุก
ขณะเดียวกัน ยังได้มอบนโยบายให้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 – 2568 ไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เน้นย้ำการผลักดันนโยบาย Quick Win 2567 และ 2568 โครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม จำนวน 72 โครงการ โดยเฉพาะนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินของภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสาร พร้อมทั้งบูรณาการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับเส้นทางในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับจีนตอนใต้ (รถไฟไทย – สปป.ลาว – จีน) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ อีกทั้งให้ความสำคัญกับโครงการแลนด์บริดจ์ เปิดประตูการค้าสองฝั่งสมุทรทางภาคใต้ รวมถึงได้เน้นย้ำด้านความปลอดภัย และบูรณาการในแต่ละหน่วยงานอย่างครอบคลุม ขณะที่การขนส่งทางน้ำนั้น ได้มอบหมายให้ดำเนินการ เพื่อรองรับด้านการขนส่ง และการท่องเที่ยวด้วย
…
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สุริยะ' ย้ำที่เขากระโดงเป็นของรฟท. ส่วนที่ดินอัลไพน์ ยันไม่ผิดกฎหมาย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังการรถไฟ
'สุริยะ' ลั่น รฟท.ไม่ยอมเสียที่ดินให้ใคร ขอให้จบในชั้นเจ้าหน้าที่ อย่าขยายประเด็นการเมือง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์กรณีกรมที่ดินมีมติไม่เพิกถอนสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และกรมที่ดิน
ท้ารัฐบาลอยากตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แน่จริงก็เอาสิ เชื่อพลังแผ่นดินจะเกิดขึ้น
'จตุพร' ท้ารัฐบาลอยากตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แน่จริงก็เอาสิ ชี้แม้ลาออกจากพท.แล้วแต่ความสัมพันธ์ยังแนบแน่น ยุรีบตั้งทั้งบ่อน ทั้งแลนด์บริดจ์ ซุกที่ดิน 99 ปี เชื่อพลังแผ่นดินจะเกิดขึ้น ถึงคราต้องลุกต่อต้านรัฐบาลขายแผ่นดิน
'สุริยะ' ย้ำศึกษาเก็บภาษีรถติด ขอเวลา 6 เดือน - 1 ปี
“สุริยะ" ชี้ ยังเป็นแค่ผลการศึกษาเก็บภาษีรถติด ขอเวลา 6 เดือน-1 ปี ตั้งธงเก็บแค่รถเก๋ง 40-50 ต่อวัน เฉพาะเส้นมีรถไฟฟ้า ส่วนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายต้องทำให้เสร็จก่อนลั่น ปีหน้า เกิดแน่
'สุริยะ' เดินหน้าแก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อ้างต่างฝ่ายต่างผิดสัญญา
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขสัญญารถ
จับตา 22 ต.ค.นี้ชง ครม. เคาะตั้งประธานบอร์ด รฟม.
“คมนาคม” ชง ครม. เคาะตั้ง “มนตรี เดชาสกุลสม” นั่งเก้าอี้ประธานบอร์ด รฟม. พร้อมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ราย เดินหน้าต่ออายุมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท ขณะที่ “รฟม.” พร้อมชงบอร์ดชุดใหม่อนุมัติขยายสีม่วง 20 บาทต่ออีก 1 ปีทันที