“คลัง” ยันเศรษฐกิจไทยปี 2566 โตจริงที่ 1.8% แจงไตรมาส 4 แผ่วสุดที่ 1.4% ก่อนทยอยฟื้นตัวปี 2567 ที่ 2.8% รับมึนเคสเอกสารหลุด ระบุไม่รู้หลุดได้อย่างไร ด้าน “ปลัดคลัง” สั่งทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง
24 ม.ค. 2567 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงคลังยืนยันตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้ 1.8% ต่อปี โดยเป็นตัวเลขที่หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว โดยเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 ขยายตัวได้ 2.6% ไตรมาส 2/2566 ขยายตัว 1.8% ไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 1.5% หากจะให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้มากกว่า 2% ในไตรมาส 4/2566 จะต้องขยายตัวได้ราว 4-5% แต่ไม่มีสัญญาณดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้ 1.4% เท่านั้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.8% ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่คลังพิจารณาด้วยความรอบคอบ ถี่ถ้วน คิดมาอย่างดีแล้ว โดยเศรษฐกิจอยู่ในศักยภาพที่ดี โดยการประมาณการดังกล่าวยังไม่ได้รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.8% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.7% ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤตแล้วหรือไม่ คำถามนี้อยากให้นักวิชาการเป็นคนตอบ เพราะคำว่าวิกฤตไม่มีนิยามที่ชัดเจน แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ก็มีมุมมองว่าถ้าเศรษฐกิจหดตัว ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยก็มีสัญญาณชี้วัดที่ส่งสัญญาณอ่อนตัวและติดลบหลายด้าน มีการเปราะบางในบางจุด มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่องมาโดยตลอด หากดูแลไม่ดีก็อาจจะเกิดวิกฤตได้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ถึงในทางทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน
“ไตรมาส 4/2566 ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะโตทะลุ 4-5% แต่เราเห็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีมากกว่า เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง ในเดือน พ.ย. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวที่ -4/7% ต่อปี เป็นการติดลบติดต่อกันเดือนที่ 14 และอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 23, คอมพิวเตอร์ หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ยางพาราและพลาสติกหดตัวติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 9 เป็นต้น โดย สศค. นำข้อมูลดังกล่าวมาสอบยันทุกทางแล้ว” นายพรชัย กล่าว
ทั้งนี้ คำศัพท์คำว่าวิกฤตเป็นคำวิเศษณ์ จะต้องอยู่กับคำนามที่ประกอบกัน เช่น ช่วงเวลาวิกฤต อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งมีหน่วยงานอย่างองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รับรอง หรือ เหตุการณ์วิกฤต เช่น มีปัญหาทางการเงินของครัวเรือนสูง มีหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย ก็เป็นวิกฤตที่ต้องมารับฟังข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขต่าง ๆ หรือไม่
นายพรชัย กล่าวถึงกรณีเอกสารประมาณการเศรษฐกิจไทยที่หลุดไปก่อนหน้านี้ ว่า ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ปลัดกระทรวงการคลังรับทราบทางวาจาแล้ว โดยปลัดกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ทำเอกสารชี้แจงตามระเบียบราชการ ว่ามีข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวอย่างไรมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจ 1.8% ก็เป็นตัวเลขหนึ่งที่มาใช้พิจารณากัน มีการสอบยันข้อมูลว่าตัวเลขนี้ทำด้วยความรอบคอบเพราะเป็นการปรับลดที่ค่อนข้างมากจากคาดการณ์ครั้งก่อน
“ผมยังไม่รู้ว่าเอกสารหลุดไปทางไหนเลย ผมไม่รู้จริง ๆ โดยในส่วนการทำงานของ สศค. นั้น ยืนยันว่าเรายังทำงานด้วยการยึดหลักวิชาการ ตัวเลขที่ชี้แจงมามีเหตุและผล ดำเนินการด้วยความรอบคอบ การทำงานของเราต้องการเผยแพร่ข้อมูลด้วยความชัดเจน จึงมีการแถลงข่าวอย่างละเอียด พยายามอธิบายให้ดีและมากที่สุด โดยความน่าเชื่อถือของ สศค. นั้น ยังเป็นความเชื่อถือที่วงการวิชาการและราชการให้การยอมรับ” นายพรชัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ศิริกัญญา' งง รอมา 2 เดือน นโยบายกระตุ้นศก.ไม่มีอะไรชัดเจน ย้อนถามแจกเงินหมื่นช่วยอะไรได้
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า
'นายกฯอิ๊งค์' ถกหัวหน้าส่วนราชการ ลุยลงทุน 9.6 แสนล้าน กระตุ้นจีดีพีประเทศ
นายกฯ ถกหัวหน้าส่วนราชการฯ กำชับผลักดันเม็ดเงินลงทุน 9.6 แสนล้าน สู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้น ‘จีดีพี’ ประเทศ