ธ.ก.ส. เผยผลงาน 3 ไตรมาสแรกปีบัญชี 66 จ่ายสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคชนบทระหว่างปีไปแล้วกว่า 6.1 แสนล้านบาท ควบคู่การสนับสนุนนโยบายรัฐในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร การลดภาระหนี้เกษตรกรผ่านโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน พร้อมเดินหน้าภารกิจองค์กรสู่การเป็นแกนกลางการเกษตร ที่ให้บริการทางการเงินและการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในการต่อยอดธุรกิจภาคการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม การทำการตลาด การพัฒนาและยกระดับชุมชนในการสร้างรายได้และการดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้หลัก BCG คาดไตรมาสสุดท้ายเติบโตได้ตามเป้าหมาย
22 ม.ค. 2566 – นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินงาน 3 ไตรมาสแรกของปีบัญชี 2566 (1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2566) ว่า ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจในภาคชนบทระหว่างปีไปแล้วจำนวน 614,131 ล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง จำนวน 1.66 ล้านล้านบาท เติบโตจากต้นปีบัญชี จำนวน 27,641 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 78.97% ของเป้าหมาย ยอดเงินฝากสะสม 1.82 ล้านล้านบาท มีสินทรัพย์ จำนวน 2.24 ล้านล้านบาท หนี้สินรวม 2.09 ล้านล้านบาท และส่วนของเจ้าของ 1.55 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 6,197 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย ขณะที่ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 5.43 ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าสิ้นปีบัญชีจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 5 ตามเป้าหมาย
ในปีบัญชี 2566 ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนภารกิจสู่การเป็นแกนกลางการเกษตร (Essence of Agriculture) ที่มุ่งยกระดับเกษตรกรในทุกมิติผ่านโครงการ D&MBA (Design and Management By Area) โดยร่วมมือกับพันธมิตรและเครือข่ายในการให้ความรู้เพื่อเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเกษตรกร การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาสู่การทำการเกษตรสมัยใหม่ หรือเกษตรอัจฉริยะ ที่สามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การสนับสนุนเกษตรกรหัวขบวนในพื้นที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การสร้างการเติบโตใหม่ในกลุ่ม Smart Farmer Agri-Tech และ Startup ในการต่อยอดธุรกิจเกษตร และสร้างความหลากหลายในตัวผลิตภัณฑ์ ที่ตรงกับความต้องการของตลาด การยกระดับสินค้าสู่มาตรฐาน ทั้งการผลิต การดีไซน์ เพื่อสร้าง Value Added ไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงการดึงคนรุ่นใหม่กลับมาต่อยอดและสานต่อธุรกิจของครอบครัว เช่น การสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตร Agro-Tourism การเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรและจับคู่ตลาด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชน โดยสามารถพัฒนาลูกค้าและชุมชนไปแล้ว 8,889 ราย (จากเป้าหมาย 6,080 ราย) การพัฒนาชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้หลัก BCG ซึ่งมีชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 181 ชุมชน และการพัฒนาความรู้ด้านการเงินและดิจิทัล โดยส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไปแล้วจำนวน 130,000 ราย
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูอาชีพ เพื่อช่วยให้พี่น้องเกษตรกรมีโอกาสในการลดภาระหนี้สิน มีรายได้ที่มั่นคง สามารถก้าวพ้นกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน เช่น มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่สอดคล้องกับศักยภาพและรายได้ในกลุ่มหนี้ที่มีปัญหา โดยใช้ฐานข้อมูลและเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล การจัดกลุ่มลูกค้า การพัฒนาเครื่องมือและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น เช่น การชำระหนี้ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile และ Banking Agent เป็นต้น มาตรการจ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งการตัดชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยในสัดส่วน 50 : 50 ซึ่งจะทำให้ลูกค้าลดภาระหนี้ได้เร็วยิ่งขี้น โดยสามารถลดหนี้ได้แล้วกว่า 43,189 ล้านบาท มาตรการจ่ายต้น ปรับงวด โดยธนาคารจะปรับตารางชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยมีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการแล้วกว่า 12,684 สัญญา ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีโชค โดยจูงใจให้ลูกค้าชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลา ซึ่งดอกเบี้ยและเงินต้นที่ชำระจริงทุก ๆ 1,000 บาท จะมอบเป็นสิทธิประโยชน์ในการชิงโชค 2 ชั้น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ จำนวน 48,119 รางวัล มูลค่ารวมถึง 479 ล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567 จับรางวัลรวม 4 ครั้ง การให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการทั้งหนี้ในและนอกระบบ โดยเฉพาะการบริหารจัดการหนี้ทั้งระบบ เพื่อลดปัญหาหนี้เสียและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกค้า ทำให้การเป็นหนี้ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ผ่านโครงการหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. โดยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เกษตรกรลูกค้าและบุคคลในครัวเรือนให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบของ ธ.ก.ส. ไปแล้วกว่า 712,518 รายเป็นเงินกว่า 60,355 ล้านบาท
ในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ให้สามารถปรับตัวได้ทันกับเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา อาทิ การปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบ Agile-working การใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกค้า การเติมความรู้และทักษะให้กับพนักงาน และการใช้จุดแข็งขององค์กรคือ “คนของเรารักลูกค้า” ในการเข้าถึงและเข้าใจลูกค้า เพื่อสนับสนุนและต่อยอดการผลิตสินค้าเกษตรของลูกค้า ให้มีมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ไปสู่เกษตรมูลค่าสูง
ด้านภารกิจตามนโยบายรัฐบาล ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567 โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงไปแล้ว 50,532 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ จำนวน 4.35 ล้านราย มาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย ที่มีหนี้รวมต้นคงค้างทุกสัญญา ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท โดยปัจจุบันมีลูกค้าแจ้งความประสงค์สอบทานสิทธิ์เข้าร่วมแล้วกว่า 1,680,406 ราย การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดลด PM 2.5 ไปแล้ว 7,412 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ 1.2 แสนราย นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือสนับสนุนผ่านระบบสินเชื่อ ธ.ก.ส. ได้แก่ 1) โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ่ายสินเชื่อไปแล้วกว่า 1,878 ล้านบาท 2) โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน จ่ายสินเชื่อไปแล้วกว่า 103 ล้านบาท 3) สินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 6,500 ล้านบาท 4) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/2567 จ่ายสินเชื่อไปแล้วกว่า 3,367 ล้านบาท 5) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 4,748 ล้านบาท และ 6) สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบของรัฐบาล รายละ ไม่เกิน 20,000 บาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน (Flat Rate) ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 งวดแรก (ชำระดอกเบี้ยปกติ) ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 3 ปี เริ่มจ่ายสินเชื่อวันนี้ถึง 30 กันยายน 2567 หรือเต็มวงเงิน 7,500 ล้านบาท
นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีบัญชี 2566 (1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567) ธ.ก.ส. ยังมุ่งดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ ในการพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินที่ทันสมัยอย่างครบวงจรด้วยต้นทุนที่ต่ำและรวดเร็ว โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานในการให้บริการลูกค้า เช่น การพัฒนา Mobile Application และ Self Service Machine เป็นต้น ด้านการพัฒนาลูกค้า สนับสนุนเกษตรกรในการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลมาวางแผนบริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคต่าง ๆ ในตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ ลดปัญหาการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด และทำให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาสินค้าได้อย่างเหมาะสม และป้องกันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การสร้างการทำธุรกิจแบบ Mutualism ระหว่างเจ้าของแหล่งปัจจัยการผลิตร่วมกับกลุ่มคนที่มีทักษะด้านการผลิต การออกแบบ การแปรรูป และนวัตกรรม โดยส่งเสริมกันในรูปแบบการแบ่งปันผลกำไร (Profit Sharing) และการสนับสนุนองค์ความรู้เสริมศักยภาพและ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเกษตรกร ผ่านการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเครือข่ายในรูปแบบ 1U1C (1 University 1 Community) เพื่อพัฒนามาตรฐานในการผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการใช้นวัตกรรม การแปรรูปและการดีไซน์ ควบคู่กับการส่งเสริมวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบด้วยการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ ผ่านการสร้างกองทุนเงินเกษียณอายุ (Pension Fund) เป็นต้น นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้ยกระดับชุมชนที่ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้ ต่อยอดไปสู่การจำหน่ายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้เต็มรูปแบบผ่านโครงการ BAAC Carbon Credit อย่างเป็นทางการ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเริ่มต้นที่บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น เป็นที่แรก และจะขยายไปยังชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างรายให้กับชุมชนที่ร่วมปลูกและดูแลต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่สร้างความยั่งยืนให้กับทุก ๆ คนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สภาพัฒน์' สั่งจับตาหนี้เสีย แนะแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้
‘สภาพัฒน์’เผยหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นมาที่ 2.99% เร่งแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ แนะจับตาประเด็นการกู้เงินนอกระบบบนโซเชียลมีเดีย ส่วนอัตราว่างงานไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 1.07% เพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังฟื้นตัวจากโควิด
'ภูมิธรรม' ยันยังไม่เลิก 'ไร่ละพัน' แจง 'ปุ๋ยคนละครึ่ง' หวังช่วยชาวนาอีกทาง
'ภูมิธรรม' แจงไม่ได้ยกเลิกไร่ละพัน พร้อมดึงกลับมาใช้ถ้าราคาข้าวตก ย้ำคนละส่วนกับปุ๋ยคนละครึ่ง ชี้ สส. รุมค้าน เหตุไม่เข้าใจถ่องแท้ไปฟังเกษตรกรมา
'บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต' เคาะแหล่งที่มาเงิน 4.5 แสนล้าน ไม่ง้อ ธ.ก.ส. ชง ครม. 23 ก.ค.
'บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต' เคาะงบ 4.5 แสนล้าน แจก 45 ล้านคน ตัดงบ ธ.ก.ส. ชง ครม. สัปดาห์หน้า แถลงใหญ่ 24 ก.ค. ยันลงทะเบียนไตรมาส 3 โอนเงินไตรมาส 4
นายกฯ เสียงแข็ง! คุยตลอดปมแหล่งเงินใช้ในโครงการดิจิทัล ลั่นทุกอย่างยึดตามกม.
นายกฯ เผย คุยตลอดปมแหล่งเงินใช้ในโครงการดิจิทัล บอกเข้าใจข้อกังวล เดี๋ยวจะแถลงให้ทราบ ลั่นทุกอย่างต้องถูกต้อง เป็นไปตามกม. พร้อมรับการตรวจสอบ ไม่เสียกำลังใจหลังถูกมองเข้ามาการเมืองเริ่มเจอคดีเป็นหางว่าว
ปูดวาระซ่อนเร้น! เหตุดึงดัน 'แจกเงินดิจิทัล'
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินคนหนึ่ง ซึ่งได้เคยดำเนินการออกหุ้นกู้ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่