‘แบงก์ชาติ’ ปูพรมแก้หนี้ครัวเรือนขึงเกณฑ์ตรวจเข้มแบงก์ปล่อยกู้

“แบงก์ชาติ” ปูพรมแก้หนี้ครัวเรือน ปักธงปี 2567 ขึงเกณฑ์ Responsible Lending ตรวจเข้มข้นแบงก์ปล่อยสินเชื่อ ขีดเส้นต้องมีข้อมูลคำเตือนพร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้อง

18 ม.ค. 2566 – นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนของไทย ณ ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 90.90% ลดลงจากปี 2564 ที่อยู่ที่ระดับสูงสุดที่ 94.70% แต่ทั้งนี้ พบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่ลดลง เป็นผลจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) มีการฟื้นตัวขึ้น ขณะที่มูลหนี้ยอมรับว่าไม่ได้ลดลงมากนัก โดย ธปท. ยืนยันว่า การแก้ไขหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำอย่างครบวงจร และทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน

สำหรับปีนี้ ธปท.จะให้ความสำคัญในการตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Responsible Lending อย่างใกล้ชิด เช่น การโฆษณาให้ข้อมูลคำเตือนพร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้อง การให้สินเชื่อที่ลูกหนี้จ่ายไหว และการแก้หนี้อย่างมีคุณภาพ โดยจะเป็นการตรวจแบบปูพรม หรือ ตรวจสอบผู้ให้บริการเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เรื่องการตรวจสอบปีนี้จะเอาจริงมากขึ้น อย่างเบื้องต้นในตอนนี้หากเห็นการโฆษณาที่ยังผิด หรือลืมใส่เงื่อนไขแจ้งเตือนต่าง ๆ จะส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้บริหารของธนาคารนั้น ๆ ให้ปรับแก้ไข และในระยะต่อจะมีการเรียกเก็บค่าปรับด้วย” นางสาวสุวรรณี กล่าว

นางสาวสุวรรณี กล่าวอีกว่า การแก้หนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำอย่างครบวงจร รวมทั้งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม โดยมาตรการที่ ธปท.ดำเนินการในปัจจุบัน คือ การให้หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของธปท. เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 ลูกหนี้ทั้งรายย่อยและลูกหนี้เอสเอ็มอี จะได้รับการเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และเหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 ห้ามคิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (Prepayment fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภท ยกเว้นกรณี refinance สินเชื่อบ้านในช่วงเวลา 3 ปีแรก และห้ามคิดค่าธรรมเนียมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 ลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบาง จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน ให้เข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด ให้ปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี ขณะเดียวกันลูกหนี้จะได้รับการกระตุกเตือนให้มีวินัยมากขึ้นระหว่างที่ชำระหนี้ เช่น เมื่อชำระหนี้ใน mobile application จะมีการตั้งค่าเริ่มต้นให้ชำระเต็มจำนวน และหากเลือกชำระที่จำนวนอื่นจะมีคำเตือนว่า จะใช้เวลาปิดจบหนี้นานและมีภาระดอกเบี้ยมากกว่าชำระเต็มจำนวน โดยการแจ้งเตือนนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567

สำหรับมาตรการที่ ธปท.ดำเนินการนี้ มีผลบังคับใช้กับเจ้าหนี้ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. คือ ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด รวมกลุ่มธุรกิจด้วย กลุ่มนอนแบงก์ เช่น บัตรเครดิต นาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อส่วนบุคคล จำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อบุคคลดิจิทัล และกลุ่มรับซื้อหนี้บริหาร ขณะที่กลุ่มสุดท้ายคือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปัจจุบันจะต้องมีการออกกฎหมายซึ่งจะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ขณะเดียวกันจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง

นางสาวสุวรรณี กล่าวถึงการหารือกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนั้น ยืนยันว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับสถาบันการเงินอยู่เสมอ โดยช่วงไหนที่ต้องเข้มงวดกับสถาบันการเงิน ธปท.ก็จะมีเกณฑ์ที่เข้ม แต่หากช่วงไหนที่ควรผ่อนคลายก็ต้องผ่อนคลาย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คปท.-ศปปส.-กองทัพธรรม ยื่นหนังสือค้านกระบวนการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

กลุ่มมวลชน ซึ่งเป็นตัวแทนจากเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม