คมนาคมดึงโมเดลญี่ปุ่นพัฒนา บขส. เชื่อมขนส่งไร้รอยต่อ

8 ม.ค. 2567 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดให้ บขส.ดำเนินการแก้ไขการให้บริการ เพื่อให้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้ บขส. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในบางส่วนแล้ว เหลือเพียงการแก้ไขปัญหาเรื่องบันไดเลื่อนเก่า ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีความปลอดภัยระดับสูงสุด โดยในปัจจุบัน บขส. อยู่ระหว่างการออกแบบให้มีความเหมาะสม ทั้งด้านจำนวน และตำแหน่ง รวมถึงการติดตั้งพัดลมระบายอากาศในพื้นที่ชานชาลาเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังรับทราบถึงปัญหาการเดินทางไปยังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่เข้าถึงยาก และมีการใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่า รวมถึงปัญหาเรื่องคุณภาพของอาคาร ดังนั้น จึงได้เตรียมแนวทางและแผนการดำเนินการสำหรับการแก้ปัญหาสถานีขนส่งหมอชิต 2 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ได้สนับสนุนให้การเดินทางในระยะใกล้ที่มีระยะทางไม่เกิน 200 กิโลเมตร (กม.) ใช้ระบบขนส่งรอง (Feeder) ซึ่งรถ บขส. ถือเป็นระบบขนส่งรองประเภทหนึ่ง เพื่อไปเชื่อมต่อกับการขนส่งระบบรางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นระบบหลักของการเดินทางระยะไกล ที่มีระยะทางมากกว่า 200 กม. ตามที่กระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ครอบคลุมในเส้นทางทั่วประเทศ

“มีแนวคิดในการพัฒนาสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ เนื่องจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ในปัจจุบัน เป็นสถานีขนส่ง “ชั่วคราว” ย้ายมาจากหมอชิตเดิม ทั้งนี้ จะพัฒนาเป็นอาคารสูงที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้อย่างสะดวก และมีอาคารแยกการให้บริการในแต่ละแนวเส้นทาง อาทิ อาคารเส้นทางสายเหนือ, สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน), สายใต้ และสายตะวันออก”นายสุริยะ กล่าว

สำหรับรูปแบบในการพัฒนาสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่นั้น จะต้องออกแบบให้ผู้โดยสารสามารถเดินเท้าเชื่อมต่อระหว่างอาคารกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเชื่อมต่อโดยอุโมงค์ หรือทางเดินที่มีหลังคาคลุม นอกจากนั้นแล้วการให้บริการของรถ บขส. จะต้องเป็นรูปแบบเดียวกันกับสนามบิน หรือจะต้องใช้ประตูทางออกร่วมกัน (Shared Gate) เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ โดยรถ บขส. จะต้องเข้ามารับผู้โดยสารตามเวลาที่กำหนด และออกจากสถานีภายในเวลา เพื่อให้การให้บริการในเส้นทางอื่น ๆ สามารถเข้ามาใช้ Gate ต่อเนื่องได้

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า บริเวณสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ จะต้องไม่มีอู่จอดรถในพื้นที่อาคาร โดยรถที่ให้บริการจะเข้ามารับ-ส่งผู้โดยสารตามเวลาเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของพื้นที่ และลดปัญหามลพิษ และที่สำคัญคือ จะพัฒนาอาคารเป็น Mixed Use โดยมีการออกแบบอาคารให้ใช้ร่วมกัน เช่น ใช้พื้นที่ชั้นล่างเป็นสถานีรถโดยสาร และพัฒนาพื้นที่ชั้นบนเป็นสำนักงาน รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่รอคอย และพื้นที่ซื้อตั๋วในตัวอาคาร พร้อมทั้งป้ายแสดงข้อมูลรถที่จะเข้ายังชานชาลาต่าง ๆ ในลักษณะ Shared Gate ดังเช่นต้นแบบในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี รูปแบบการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่ ได้หยิบยกโมเดลจากต่างประเทศ เพื่อนำมาประกอบแผนในการพัฒนาในประเทศไทย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ณ สถานีฮากาตะ ที่พัฒนาสถานีโดยสารเป็นอาคารสูง และเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟได้อย่างสมบูรณ์แบบ, สถานีโตเกียว ที่มีการพัฒนาสถานีโดยสารที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟโตเกียว เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วนในอ่าง! รัฐบาล ตั้งคณะอนุกรรมการฯ 11 ด้าน แก้ไขปัญหา 'พีมูฟ'

รัฐบาล ถกแก้ไขปัญหา 'พีมูฟ' สั่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ 11 ด้าน แยกปัญหาแต่ละด้านและเข้าสู่กระบวนการในการแก้ไข 'สุริยะ-ประเสริฐ' ลงคุยมวลชน เผยนายกฯห่วงใย สั่งให้แก้ปัญหาด่วน

'ปชน.'ซัดภาษีรถติดเหมือนหาเงินให้เอกชน 'รมช.คมนาคม' โต้อย่ามองหาเงินให้ใคร

เด็ก ปชน. ตั้งกระทู้ถามสดเก็บภาษีรถติดซื้อคืนรถไฟฟ้า กังขา 'เพื่อไทย' หาเงินให้เอกชน ด้าน 'รมช.คมนาคม' แจงนายกฯมอบศึกษารูปแบบ-วิธีการ ลั่นเอื้อนายทุนไม่ได้ เหตุมีกลไกตรวจสอบเพียบ