4 ม.ค. 2567 – นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย ช่วง 11 เดือน ม.ค. – พ.ย. 2566 อยู่ที่ 152.24 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.9% โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 3.7% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 56.1% และการใช้ LPG เพิ่มขึ้น 0.6% ขณะที่น้ำมันเตา น้ำมันกลุ่มดีเซลและ NGV มีการใช้ลดลง 15.2% 5.2% และ 1.5% ตามลำดับ
ทั้งนี้ การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินช่วง 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย. 66) เฉลี่ยอยู่ที่ 31.54 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.7% การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.93 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี20 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.89 ล้านลิตร/วัน ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี85 และเบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 6.78 ล้านลิตร/วัน 0.16 ล้านลิตร/วัน และ 0.46 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ทั้งนี้ การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. 2566 ที่ 31.8% และ 3.2% ตามลำดับ จากนโยบายปรับลดราคาน้ำมันเบนซินลงทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2567 เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน
ขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลช่วง 11 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 68.83 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.2% โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 และน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 0.80 ล้านลิตร/วัน 0.15 ล้านลิตร/วัน และ 3.76 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.9% เฉลี่ยอยู่ที่ 64.12 ล้านลิตร/วัน แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงเดือนที่ผ่านมาปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซล โดยใช้มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาท/ลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้าไปชดเชยเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร
ด้านการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1)ช่วง 11 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 13.28 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 56.1% เนื่องจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว ประกอบกับรัฐบาลได้มีการประกาศใช้นโยบายฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวประเทศจีนและคาซัคสถาน รวมระยะเวลา 5 เดือน และเพิ่มเติมประเทศอินเดียและไต้หวันรวมระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางทางอากาศยานเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการใช้ LPG ช่วง 11 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 17.79 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.6% โดยการใช้ภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 3.8% อยู่ที่ 2.26 ล้าน กก./วัน ภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น 0.8% อยู่ที่ 7.80 ล้าน กก./วัน และการใช้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 0.02% เฉลี่ยที่ 5.72 ล้าน กก./วัน และภาคอุตสาหกรรมลดลง 1.6% มาอยู่ที่ 2.01 ล้าน กก./วัน และการใช้ NGV ช่วง 11 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 3.34 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.5% ทั้งนี้ สถานการณ์ราคา NGV ที่มีการปรับตัวสูงขึ้น 1 บาท/กก. จาก 18.59 บาท/กก. เป็น 19.59 บาท/กก. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ธพ.สั่งสำรองน้ำมันดีเซลรับช่วงปลายปี
ธพ.หารือร่วมผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เร่งบริหารน้ำมันในช่วงเทศกาลที่จะมีความต้องการใช้สูง สั่งสำรองดีเซล 70% ในช่วง 10 ธ.ค. 65 - 31 ม.ค. 66
เศรษฐกิจฟื้น! ธพ.เผยยอดใช้น้ำมันไตรมาสแรกปี 65 โต 1.4%
ธพ.เผยยอดใช้น้ำมันไตรมาสแรกปี 65 โต 1.4% รับอานิสงส์กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้น ส่งสัญญาณดีน้ำมันอากาศยานเพิ่ม หนุนทุกกลุ่มโตตาม เว้นกลุ่มเบนซินลดลงเหตุราคาขายปลีกสูง ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบโต 10.5% แต่มูลค่าทะลุ 2.8 แสนล้านบาทโต 95.1%
ธพ.เผยยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 11 เดือนตกต่อเนื่อง
ธพ.โอดยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 11 เดือนปี 64 ตกต่อเนื่อง ต่อวันลดลง 4.6% น้ำมันอากาศยานยังครองแชมป์ ชี้ไทยมีมาตรการเข้าประเทศเข้มขึ้น กลุ่มดีเซลมาดี รับแรงหนุนจากการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น