3 ม.ค. 2567 – สถานการณ์ “เศรษฐกิจในปี 2566” มีหลายปัจจัยที่เหมือนจะช่วยขับเคลื่อนให้การเติบโตเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการคลี่คลายลงของสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันการเติบโตมาตลอดช่วง 2-3 ปี โดยหลังพ้นจากวงโคจรโควิด-19 ก็ดูเหมือนว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลายๆ ตัวเริ่มจะกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
โดยเฉพาะ “การเลือกตั้ง” เมื่อช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งหลายฝ่ายหมายมั่นปั้นมือเป็นอย่างดีว่า ภายหลังการเลือกตั้ง จนถึงมีการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน จากนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลจะเร่งผลักดันออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหากดูจากนโยบายหาเสียงในมิติเศรษฐกิจของแต่ละพรรคในขณะนั้น โดยเฉพาะนโยบายปากท้อง การเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ซมพิษโควิด-19 มาเป็นเวลานาน กลับมาฟื้นตัวและลืมตาอ้าปากได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
หวัง “เลือกตั้ง” เข็นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าปัจจัยเรื่องการเมืองอาจจะไม่ได้เป็นยาแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่คิด เพราะการจัดตั้งรัฐบาลกินระยะเวลาค่อนข้างยาวนาน จากที่ควรจะเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ กลับกลายเป็นปัจจัยที่เข้ามาสั่นคลอนความไม่มั่นใจ โดยเฉพาะภาคการลงทุนจากความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล จนท้ายที่สุดก็ได้ “พรรคเพื่อไทย (พท.)” ขึ้นมายืนหัวแถวนำทัพจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับพรรคร่วมหน้าเก่า-หน้าใหม่ เรียกว่าช่วยสร้างความสดใสให้กับเศรษฐกิจไทยได้พอสมควร
แต่ผลพวงจากแผลใหญ่ของความยืดเยื้อและความไม่ชัดเจนในช่วงก่อนหน้า ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจหลายส่วนต้องหยุดชะงักเพื่อรอความชัดเจน ขณะที่หลายๆ ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกับปากท้องของประชาชนกลับเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงอย่างปฏิเสธไม่ได้ จนส่งผลกระทบต่อภาระหนี้สินของประชาชน ซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ประชาชนต้องแบกรับความเสี่ยงในมิติต่างๆ
ขณะที่ “ภาคการคลัง” ก็รับบทหนักไม่แพ้กัน เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลในขณะนั้นจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาดูแลเยียวยาประชาชนและเศรษฐกิจนั่นเอง ส่งผลต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะ แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกันทั่วโลก สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่สดใสส่งผลกระทบชัดเจนต่อเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย นั่นคือ “ภาคการส่งออก” ผู้ประกอบการบาดเจ็บกันไปไม่น้อย แม้ว่ารัฐบาลทั้งเก่าและใหม่จะพยายามในการทำข้อตกลงทางการค้าต่างๆ การเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ การกระตุ้นและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย แต่ด้วยปัจจัยเรื่อง “เศรษฐกิจโลกที่ไม่สู้ดี” การส่งออกก็ต้องรับเคราะห์ โตแบบลุ่มๆ ดอนๆ ไปแบบอย่างที่จะหลีกเลี่ยง
รัฐบาลเร่งปั้นดิจิทัลวอลเล็ต
“โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่รัฐบาลเพื่อไทยหมายมั่นปั้นมือว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ในระยะยาว อย่างน้อยก็ 4 ปี และตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการมีทั้งเสียงสนับสนุน และเสียงคัดค้านจากหลากหลายกลุ่มทางสังคม จนในที่สุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ต้องออกมายืนยันหนักแน่นว่า “รัฐบาลจะเดินหน้ามาตรการดังกล่าวต่อไป” หลังจากที่ได้หารือกับหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ได้มีการรับฟังปัญหารวมถึงข้อเสนอแนะจากทุกส่วน และน้อมพิจารณาเพื่อที่จะมีการปรับปรุงแต่งเติมให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่ไม่มีการยกเลิกอย่างแน่นอน
โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เต็มประสิทธิภาพเฉลี่ยที่ 5% ในช่วง 4 ปี โดยที่ไม่อยากให้ต้องกังวลเรื่อง “หนี้สาธารณะ” เรื่องนี้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ระบุว่า รัฐบาลยืนยันว่า หนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะจะมีกระบวนการบริหารจัดการอยู่ โดยในรายละเอียดคือ หนี้จะเกิดขึ้นหลังจากมีการขึ้นเงินจากโครงการ ซึ่งหมายความว่าเกิดขึ้นหลังจากกระบวนการกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียน ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจจะมีการเติบโตขึ้น เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นก็จะไปลดภาระของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
“รัฐบาลไม่ได้ห่วงในเรื่องประเด็นหนี้สาธารณะมากนัก เพราะจะอยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ และอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ราว 62% กว่าต่อจีดีพี ถ้าเราคงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ 5% และเมื่อรวมกับการขาดดุลงบประมาณประจำปีแล้ว หนี้สาธารณะจะลงไปต่ำกว่า 62% ต่อจีดีพี ไปอยู่ที่ระดับ 60% ต่อจีดีพีได้ไม่ยากนัก ภายในระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล ซึ่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ” จุลพันธ์ กล่าว
ลุ้นปี 67 “ส่งออก” ฟื้นตัว
โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intellingence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องในเดือน ธ.ค.2566 แต่จะยังไม่สะท้อนสภาวะการส่งออกที่ดีขึ้น เพราะยังมีผลปัจจัยฐานต่ำ โดยการส่งออกในเดือน ธ.ค.2565 หดตัวมากถึง -14.3% นอกจากนี้การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในช่วงท้ายปีจะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงตั้งแต่ต้นปีได้ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2566 มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย โดยคงประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในระบบดุลการชำระเงิน (USD BOP basis) ปี 2566 ที่ -1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับมูลค่าการส่งออกในปี 2567 นั้น SCB EIC ประเมินว่ามีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 3.7% จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ 1.ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ แม้จะชะลอลงบ้างอยู่ที่ราว 2.5% และ 2.ภาคการผลิตที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปี 2567 หลังจากภาคบริการที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศน้อยกว่าเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในปีที่ผ่านมา 3.ราคาสินค้าส่งออกยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงในปี 2567เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้ง และนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ 4.ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันการส่งออกของไทย เช่น การขยายตลาดของสินค้าไทยในต่างประเทศ การแสดงสินค้าในต่างประเทศ การเดินหน้าจัดทำสนธิสัญญาการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ และ 5.ปัจจัยฐานต่ำ
ซึ่งสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ส่งออกที่จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในปี 2567 ได้แก่ การส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มขยายตัว 13.9% (Contribution to export growth = 0.9%) เร่งตัวขึ้นจาก 7.5% ในปี 2566 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและรายได้ต่อหัวตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัว 3.2% (Contribution to export growth = 0.8%) หลังจากหดตัว -4.7% ในปี 2566 จากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในโลก โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโลก จะช่วยสนับสนุนให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้สหรัฐยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยมากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีน
จับตา “ภาคท่องเที่ยว”
ส่วนที่ดูเหมือนจะเป็น “พระเอก” เป็น “ความหวัง” คงหนีไม่พ้น ภาคการท่องเที่ยว ที่พูดกันตามตรงคือ หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ต่างหวังว่าจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่หลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้วจะกลับมาโตวันโตคืน ดีวันดีคืน เพราะถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่แข็งแกร่งอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาลตลอดช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนว่า ฝันจะยังไม่เป็นจริง!
เพราะตลาดหลัก ตลาดสำคัญ ตลาดใหญ่ของการท่องเที่ยวไทยอย่าง “จีน” ไม่มาตามนัด ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาเศรษฐกิจในประเทศจีนที่ยังซึมๆ ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว และไม่รู้ว่าสถานการณ์จะบานปลายและไปสุด ปิดจบที่ตรงไหน มิหนำซ้ำยังมามีปัญหาความขัดแย้งในหลายประเทศ สืบเนื่องยาวนานมาตั้งแต่รัสเซีย-ยูเครน จนมาถึงคู่ล่าสุดอย่างอิสราเอลและฮามาส เรียกว่ามีแต่แรงกดและแรงดันที่เข้ามาปะทะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้
“หนี้ครัวเรือน” ปัญหาหนักอก
เอาจริงๆ หลักๆ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงจากนอกประเทศที่เข้ามากระทบและกดดัน ไม่นับปัจจัยเสี่ยงในประเทศอย่าง สถานการณ์ที่น่าจับตาตลอดมาและตลอดไป อย่าง “หนี้ครัวเรือน” ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นระเบิดเวลาสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่อีกมุมก็มองได้ว่าเป็นแผลเป็นที่ไม่ตกสะเก็ด ไม่หายไปเสียที เพราะเมื่อมาดูในรายละเอียดจะพบว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.6% ซึ่งสินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัว โดยเฉพาะหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลงเล็กน้อย
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 ทั่วประเทศ จำนวน 1,300 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 17-21 ก.ค.2566 พบว่า ภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงมากที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจความคิดเห็นในปี 2552 โดยมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 5.59 แสนบาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 11.5% จากปี 2565 ที่มีหนี้รวม 5.01 แสนบาทต่อครัวเรือน แยกเป็นหนี้ในระบบ 80.2% และหนี้นอกระบบ 19.8% โดยมีภาระการผ่อนชำระ 16,742 บาทต่อเดือน เป็นหนี้ในระบบ 12,012.70 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 80.2% หนี้นอกระบบ 4,715.50 บาทต่อเดือน หรือ 19.8%
โดยสาเหตุของการเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้น 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 2.ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 3.รายได้ไม่พอกับรายจ่าย 4.ลงทุนในธุรกิจเพิ่มขึ้น และ 5.ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 75.6% ยอมรับว่า “เคยผิดนัดชำระหนี้ หรือขาดการผ่อนชำระหนี้” เนื่องจากปัญหารายได้ลดลง เศรษฐกิจไม่ดี ตกงาน!!
“สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน มาจากการขาดวินัยทางการเงิน รองลงมา รายรับไม่พอกับรายจ่าย วางแผนการลงทุนผิดพลาด และมีความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ โดยหนี้ครัวเรือนมีโอกาสสูงขึ้น และคาดว่าวงเงินก่อหนี้น่าจะพีกสุดในช่วงปี 2567” นายธนวรรธน์ ระบุ
อย่างไรก็ดี หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนได้พยายามคิดวิธี ออกมาตรการในการรับมือ ตลอดจนแก้ปัญหา บรรเทาผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนในหลากหลายมิติ เพื่อให้ลูกหนี้ยังมีลมหายใจและมีแรงเดินต่อ เป็นเรื่องที่ทำมาแล้ว ทำอยู่และยังต้องทำกันต่อไป
ปรับโหมดนโยบายการเงิน
ขณะที่นโยบายการเงินได้ปรับโหมด สมูธเทกออฟ-ซอฟต์แลนด์ดิง โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขยับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่กำลังจะเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2566 นั้น กนง.ปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงมาเหลือ 2.4% จากเดิมที่ 2.8% และในปี 2567 กรณีไม่รวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อยู่ที่ 3.2% และกรณีที่รวมผลของดิจิทัลวอลเล็ต จะอยู่ที่ 3.8% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.4% พร้อมทั้งยืนยันว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว โดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 2.5% ในช่วงคาดการณ์ 2.5-3.0% ส่วนปี 2567คาดว่าจะขยายตัว 3.2% ในช่วงคาดการณ์ 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออก การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนกระทรวงการคลัง ล่าสุดได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงเหลือ 2.7% จากเดิมที่ 3.5% จากแรงกดดันในเรื่องมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ที่คาดว่าจะหดตัวที่ -1.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย ขณะที่การบริโภคภาครัฐอาจหดตัว -3.4% เช่นเดียวกับการลงทุนของรัฐ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้า
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามกันต่อไปยาวๆ ว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีมังกรทอง 2567 จะออกมาในรูปแบบใด โดยหลายฝ่ายประเมินว่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าปีนี้ จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ที่กลับมาเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แรงส่งจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่กลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่ ความมุ่งมั่นในการเร่งฟื้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในมิติต่างๆ ที่หวังว่าจะแรงพอและส่งถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้ผ่านพ้นวิกฤตหนี้ครัวเรือนและปัญหาค่าครองชีพสูงไปได้!!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ศิริกัญญา' งง รอมา 2 เดือน นโยบายกระตุ้นศก.ไม่มีอะไรชัดเจน ย้อนถามแจกเงินหมื่นช่วยอะไรได้
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า
'นายกฯอิ๊งค์' ถกหัวหน้าส่วนราชการ ลุยลงทุน 9.6 แสนล้าน กระตุ้นจีดีพีประเทศ
นายกฯ ถกหัวหน้าส่วนราชการฯ กำชับผลักดันเม็ดเงินลงทุน 9.6 แสนล้าน สู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้น ‘จีดีพี’ ประเทศ