1 ม.ค. 2567 – นับเป็นการส่งท้ายปีที่ค่อนข้างคึกคักเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจ “ศูนย์การค้า” จะเห็นได้ว่าค่ายยักษ์ใหญ่ต่างก็พากันเปิดตัวศูนย์การค้าแห่งใหม่กันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในตัวเมืองกรุงเทพฯ และรอบนอก ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นผลดีต่อลูกค้า ที่มีศูนย์การค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากขึ้น
“วันสยาม” กับศูนย์การค้าที่ตอบโจทย์ทุกกลุ่ม
นางสรัลธร อัศเวศน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานบริหารธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด สัดส่วนของลูกค้าไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประมาณ 40:60 ซึ่งก่อนหน้านั้นนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นกลุ่มที่มาใช้บริการสัดส่วนมากกว่าประเทศอื่นๆ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวจากที่สัดส่วนน้อย แต่ได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวได้เริ่มกลับมาเทียบเท่ากับสัดส่วนเดิม คือ 40:60 แต่สิ่งที่แตกต่างคือกลุ่มนักท่องเที่ยว นอกจากชาวจีนซึ่งยังครองสัดส่วนจำนวนมากแล้ว ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นจำนวนมากคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม และมีชาวอาหรับ และอินเดีย
ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคจะเห็นได้ว่าหลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 ระยะแรกๆ ลูกค้าจะเข้ามาจับจ่ายด้วยวัตถุประสงค์ชัดเจน มุ่งไปที่ร้านค้าหรือบริการที่ตั้งใจไว้ และเมื่อจับจ่ายหรือใช้บริการเสร็จก็จะเดินทางกลับ แต่ปัจจุบันบรรยากาศการจับจ่ายผ่อนคลายมากขึ้น พฤติกรรมลูกค้ามีช่วงเวลาการใช้ชีวิตในศูนย์การค้ามากขึ้นกว่าเดิม เพราะภายในศูนย์การค้ามีสินค้าและบริการหลากหลายและตอบรับครบทุกกลุ่มเป้าหมาย
ขณะเดียวกันโลกเทคโนโลยีมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างชัดเจน เพราะเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิต และในทุกอุตสาหกรรม ทำให้ศูนย์การค้าเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีมาใช้ในชีวิต เห็นได้จากเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา สยามพารากอนเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญระดับโลก เป็นที่หนึ่งในใจหรือ Top of Mind ของนักช็อปทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาโดยตลอด ทั้งยังเป็นแลนด์มาร์กสำคัญใจกลางกรุงเทพมหานครที่มีผู้คนมาเยือนวันละกว่า 120,000–150,000 คนต่อวันคน หรือกว่า 50 ล้านคนต่อปี
โดยสยามพารากอนได้ทรานส์ฟอร์มครั้งสำคัญสู่การเป็น The World of Tomorrow ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแห่งโลกอนาคตในทุกมิติ โดยได้ร่วมกับพันธมิตรผู้ทรงพลังในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล การลงทุน และโซเชียลมีเดีย ร่วม Co-create สร้าง “SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX” เทคคอมมูนิตี้เพื่อการเรียนรู้แห่งโลกอนาคต เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้ผู้สนใจโลกดิจิทัลทุกกลุ่มวัย ได้แลกเปลี่ยนความรู้พร้อมก้าวเข้าสู่โลกอนาคตในยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคต่อไป
สำหรับศูนย์การค้ากลุ่มวันสยาม ที่ประกอบด้วย สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ต่างมี positioning ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่เมื่อรวบรวมความหลากหลาย ทำให้วันสยามตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ คือ สยามพารากอนยืนหยัดการเป็น Luxury Destination ที่ครองใจนักช็อปทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ กว่า 18 ปีของสยามพารากอน ได้สร้างประสบการณ์เหนือระดับแปลกใหม่ ก่อนใคร ในทุกมิติส่วน สยามเซ็นเตอร์ เมืองแห่งไอเดียที่ล้ำเทรนด์ เป็นศูนย์กลางแห่งแฟชั่นและไลฟ์สไตล์สำคัญของไทยมากว่า 50 ปี ที่สยามเซ็นเตอร์ จะเต็มไปด้วย Be Inspired ไอเดียสุดล้ำในทุกแขนง และสยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรียม จุดหมายปลายทางด้านไลฟ์สไตล์แห่งแรกของกรุงเทพฯ ในฐานะ “ไฮบริดรีเทลสโตร์” ผสมผสานการช็อปไปกับความสนุก ได้สำรวจและทดลองไอเดียใหม่ๆ ได้ไม่รู้จบ
อย่างไรก็ดี ไฮไลต์สำคัญของสยามดิสคัฟเวอรี่ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าในปลายปี 2566 คือ การปรับพื้นที่ของชั้น 3 ทั้งหมด ให้เป็นโซเชียลคอมมูนิตี้และพื้นที่ของร้านอาหารใหม่ล่าสุดที่เข้ามาเปิดในสยามดิสคัฟเวอรี่ โดยเรียกพื้นที่นี้ว่า Flavor Lab นำเสนอร้านอาหารใหม่ๆ ทั้งไทยและนานาชาติ อาทิ อาหารจีน เกาหลี รวมถึงอาหารนานาชาติยอดนิยมโดยเชฟระดับมิชลินสตาร์
โดยตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา สยามดิสคัฟเวอรี่ได้สร้างปรากฏการณ์และกระแสฮือฮา นำเสนอ K-Culture สุดฮอตมาสู่ประเทศไทย จึงเป็นที่มาของความสำเร็จของสยามดิสคัฟเวอรี่ ที่ชูธงการนำเสนอเทรนด์ K-Culture อย่างจริงจัง ตั้งแต่การนำ Carlyn แบรนด์กระเป๋าชื่อดังจากเกาหลีใต้ มาเปิด Carlyn Popup Boutique แห่งแรกแห่งเดียวในประเทศไทย สร้างกระแสต่อคิวพรีออเดอร์และเป็นสินค้าสุดฮอต การเปิด Boggle Boggle K-Ramyun Pop-up Shop ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
เดินหน้าสร้างเมืองใหม่-ยกระดับการใช้ชีวิต
ส่วนทางด้าน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เรียกได้ว่าสร้างปรากฎการณ์อย่างยิ่งใหญ่เลยทีเดียว ด้วยการเปิดแลนด์มาร์กแห่งกรุงเทพฯ ตะวันตก “เซ็นทรัล เวสต์วิลล์” มูลค่าโครงการ 6,200 ล้านบาท สร้างปรากฏการณ์ย่านใหม่ “Westville District” โดย นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา ระบุว่า การเปิดเซ็นทรัล เวสต์วิลล์ เป็นศูนย์การค้าลำดับที่ 40 ของบริษัท นับว่าเทียบเท่าการสร้างย่านใหม่คือ Westville District เสริมความแข็งแกร่งและศักยภาพให้กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในย่านโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าเมือง อีกทั้งยังมุ่งมั่นเป็นต้นแบบศูนย์การค้า Semi-outdoor และ Low Carbon Mall แห่งอนาคตที่ตอบโจทย์ทั้ง People-Pet-Planet เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงการใช้ชีวิตทั้งคนและสัตว์เลี้ยงที่ผสานเทรนด์รักษ์โลกอย่างลงตัว ทั้งการใช้พลังงานสะอาด การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ก่อสร้าง รวมถึงการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“การสร้าง Westville District ที่มีศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์วิลล์ เป็นแลนด์มาร์กยิ่งใหญ่ที่สุดของย่าน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนในย่าน เรามองว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่ CBD แต่เรากำลังขยายความเป็นเมืองออกไปโดยรอบด้วยกลยุทธ์ Strategic Rings ครั้งนี้เรายกระดับศักยภาพของนนทบุรีครบทุกทิศทางทั้งเซ็นทรัล เวสต์เกต, รัตนาธิเบศร์, แจ้งวัฒนะ และล่าสุดกับ เซ็นทรัล เวสต์วิลล์” นางสาววัลยา กล่าว
นอกเหนือจากทำเลในเขตกรุงเทพฯชั้นในและรอบนอกแล้ว ก่อนหน้านี้เซ็นทรัลพัฒนาได้มีการประกาศว่าจะทำการขยาย Retail-Led Mixed-Use Development ตามแผนธุรกิจ 5 ปี ลงทุนในธุรกิจหลักรวมกว่า 120,000 ล้านบาท และขยายโครงการครอบคลุมกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ จากความสำเร็จในการขยายโครงการทั่วประเทศ จุดแข็งของเซ็นทรัลพัฒนาคือการเล็งเห็นศักยภาพและเจาะเมืองเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการขยายโครงการใหม่ “เซ็นทรัล นครสวรรค์” และ “เซ็นทรัล นครปฐม” ก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างเมืองใหม่-เจาะกลุ่มรายได้สูงมีไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง-ขยายโอกาสธุรกิจเพื่อคู่ค้า โดยเซ็นทรัล นครสวรรค์ มีมูลค่าโครงการ 5,800 ล้านบาท บนที่ดิน 42 ไร่ ประกอบด้วยศูนย์การค้า GFA 76,000 ตร.ม. เปิดให้บริการช่วงไตรมาส 1/2567, โรงแรม 200 ห้อง, คอนโดมิเนียม และ Urban Park ขนาดใหญ่ 2 ไร่ และเซ็นทรัล นครปฐม มูลค่าโครงการ 8,200 ล้านบาท บนที่ดินเกือบ 100 ไร่ ประกอบด้วยศูนย์การค้า GFA 69,000 ตร.ม. เปิดให้บริการช่วงไตรมาส 2/2567, โรงแรม 200 ห้อง, คอนโดมิเนียม, หมู่บ้านจัดสรรและ Urban Park ขนาดใหญ่ 4 ไร่
ทุ่มงบดันย่านการค้า 3 มุมเมือง
อีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่เรียกว่าสร้างความฮือฮาอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คงต้องยกให้กับค่ายเดอะมอลล์ กรุ๊ป แน่นอนว่าการพัฒนาศูนย์การค้าของ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เรียกว่าต้องไม่ธรรมดา ปลายปี 2566 นี้ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้เขย่าวงการด้วยการปลุกย่านสุขุมวิทให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น กับการเปิด “ดิ เอ็มสเฟียร์” ศูนย์การค้าแห่งอนาคตที่ไม่เคยหลับใหล ที่มาเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับ เอ็มดิสทริค มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ ดิ เอ็มสเฟียร์ มิติใหม่แห่งย่านธุรกิจการค้าในอนาคตที่ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์แบบบนถนนสุขุมวิท ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการตั้งแต่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ก็มีเสียงตอบรับที่ดีอย่างมาก
นอกจากนี้ เดอะมอลล์ ยังพลิกโฉมสู่ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ มหัศจรรย์ มหาศาล ที่มหานครแห่งใหม่ ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 2 สาขา 30,000 ล้านบาท ภายใต้คอนเซ็ปต์ “A HAPPY PLACE TO LIVE LIFE : ชีวิตที่มีความสุขทุกครอบครัว” ใน 2 มุมเมือง เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิย่านลาดพร้าว บางกะปิ และเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางแค ย่านเพชรเกษม บางแค ซึ่งในสวนของโครงการเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ และ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางแค จะเป็นมหานครแห่งใหม่ที่เป็นศูนย์กลางความมหัศจรรย์แห่งการใช้ชีวิต ที่สมบูรณ์แบบและยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก บนทำเลที่มีศักยภาพการเติบโตสำคัญ โดยทั้ง 2 โครงการ ที่มีพื้นที่รวมกว่า 700,000 ตารางเมตร (บางกะปิ 350,000 ตารางเมตร, บางแค 350,000 ตารางเมตร) จะช่วยสร้างปรากฏการณ์ของอาณาจักรศูนย์การค้าที่ยิ่งใหญ่ ครบวงจร เพียบพร้อมและสมบูรณ์แบบอีกด้วย
สำหรับ 2 สาขานี้นับว่าเป็นสาขาใหญ่อันดับ 1 และ 2 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 29 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2537 โดยปัจจุบันย่านบางกะปิและบางแค มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอาศัยอยู่ พร้อมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้วาง Positioning เป็น CAPITAL OF LIFE WONDERS “มหัศจรรย์ มหาศาล ที่มหานครแห่งใหม่” ฝั่งกรุงเทพตะวันออกและตะวันตก เพื่อสร้างมิติใหม่แห่งความสุข ด้วยความมหัศจรรย์ของประสบการณ์การ ช้อปปิ้งที่หลากหลาย และบรรยากาศการช้อปปิ้งที่นำนวัตกรรมเทคโนโลยี การตกแต่งที่ทันสมัยมาผสมผสานเข้ากับธรรมชาติ เพื่อสร้างให้เป็นพื้นที่ที่มากกว่าศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า เป็นพื้นที่แห่งประสบการณ์แห่งความสุข พร้อมความมหัศจรรย์มากมาย
ทั้งนี้ พัฒนาย่านการค้าให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น นับว่าสอดรับกับแผนพัฒนา การขยายตัวของเมือง ผ่าน 3 โครงการศูนย์การค้า ใน 3 มุมเมืองที่มีเอกลักษณ์ (Unique) มีลักษณะเฉพาะ (One and Only) และ มีความโดดเด่น (Outstanding) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 3 โครงการกว่า 50,000 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าแม้แต่ละค่ายจะแข่งกันเปิดศูนย์การค้าใหม่ รีโนเวทศูนย์การค้าให้ตอบโจทย์ ทันสมัย รับกับพฤติกรรมและความต้องการลูกค้าในยุคนี้มากขึ้น แต่ก็เป็นการแข่งขันที่สร้างสรรค์ เพราะแต่ละทำเลแต่ละศูนย์ได้ถูกคิดและพัฒนาขึ้นมาให้รับกับกลุ่มเป้าหมายของทำเลนั้นๆ ซึ่งย่อมเป็นผลดีของผู้บริโภค ซึ่งศูนย์การค้าในยุคนี้ไม่ได้ตอบโจทย์แค่การช้อปปิ้ง แต่ยังเป็นสถานที่ให้ได้เข้ามาใช้ชีวิตกันมากกว่าในอดีต คงต้องมาติดตามกันต่อไปว่าในปี 2567 ค่ายไหนจะกระหึ่มวงการศูนย์การค้ากันอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฉมหน้า 110 ผู้สร้างแรงบันดาลใจ
110 บุคคลที่ร่วมส่งเสริมการพัฒนาประชากรในมิติต่างๆ ช่วยเพิ่มโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นตบเท้าเข้ารับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติโครงการ “HER AWARDS, UNFPA THAILAND 2024 ประชากรหญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจ “ เช่น สายสุนีย์ จ๊ะนะ
จับตาศาลปกครองกลางพิจารณาคดีนัดแรกเซ็นทรัลฯ ฟ้อง ทอท.
ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก
เซ็นทรัลเวิลด์จัดงาน 'Mooncake Fest 2024' ดึงนักช้อปเชื้อสายจีน หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส3
เซ็นทรัลเวิลด์จัดงานใหญ่ Mooncake Fest 2024 ดึงดูดนักช้อปเชื้อสายจีนจากทั่วโลก หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 3 พร้อมเพิ่มช้อปออนไลน์รับส่วนลดสุดคุ้ม ตั้งแต่วันนี้ ถึง 17 ก.ย. 67