ตามคาด ‘กนง.’ มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย

“กนง.” เอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี ประคองเศรษฐกิจรับมือโควิด-19 ขยับจีดีพีปีนี้โตเพิ่มเป็น 0.9% แต่หั่นปี 2565 เหลือ 3.4% คาดเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะปกติได้ในปี 2566 แจงพร้อมขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อร้อนแรง

22 ธ.ค. 2564 นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อโลกและการส่งผ่านต้นทุน

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง

นายปิติ กล่าวว่า กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 0.9% ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 0.7% และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 ที่ 3.4% จากเดิมที่ 3.9% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 4.7% จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมามากขึ้น

“เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาได้สู่ภาวะปกติต้นปี 2566 โดยสิ้นปี 2564 การฉีดวัคซีนคาดว่าได้ 70% ส่วนต้นปี 25654 ได้บูสต์เตอร์เข็ม 3 ทำให้การแพร่ระบาดของโอมิครอนน่าจะเป็นความเสี่ยงที่ไม่ยืดเยื้อต้นในปีหน้า ซึ่งการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ได้คำนึงถึงมาตรการที่ทางรัฐบาลประกาศไว้แล้ว เป็นเหตุผลที่ปรับนักท่องเที่ยวลงเยอะในต้นปี 2565 แต่ประมาณการว่าฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป เทียบกับครึ่งปีหลังที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเยอะ” นายปิติ กล่าว

ทั้งนี้ การฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน จะกระทบเศรษฐกิจในช่วงแรกของปี 2565 โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดและความเข้มงวดของมาตรการควบคุม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังอยู่ต่ำ

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 2565 และ 2566 จะอยู่ที่ 1.2% ,1.7% , และ 1.4% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าคาดในบริบทที่เงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นเร็ว โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยข้างต้นอย่างใกล้ชิด

“ถ้าดูแลเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงิน ต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดว่าขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ กนง.เห็นว่าสมควรหรือไม่ ขณะเดียวกัน ต้องสื่อสารว่า ธนาคารกลางให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นอีกเครื่องมือ ที่ยึดเหนี่ยวให้เงินเฟ้ออยู่ในอัตราที่เหมาะสม” นายปิติ กล่าว

ส่วนสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายตัวของสินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยรวมทรงตัว สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในระดับสูง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด ที่อาจรุนแรงขึ้นและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง

“คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น” นายปิติ กล่าว

นายปิติ กล่าวว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กนง.จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ขุนคลัง’ ลั่นอยากเห็น ‘กนง.’หั่นดอกเบี้ยอีก0.25%

“ขุนคลัง” ลั่นอยากเห็น “กนง.” ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% หวังให้สอดคล้องเงินเฟ้อต่ำ-ทิศทางดอกเบี้ยโลก พร้อมปัดเข็นชื่อ “กิตติรัตน์” นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ชง ครม. แจงยังมีเวลา!

ระทึก!'ทักษิณ'ขาสั่น 'จตุพร' เผยอนุไต่สวนชั้น 14 มติเอกฉันท์ชี้มูลผิด ยื่น ปปช.ฟ้องศาล

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ระบุถึงความคืบหน้าคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

'ขุนคลัง' มั่นใจต่อไปเศรษฐกิจดีขึ้นแน่หลัง กนง.ลดดอกเบี้ย

'พิชัย'มั่นใจเศรษฐกิจดีขึ้น หลัง กนง. ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย หวังทุกฝ่ายร่วมมือฟื้นสภาพคล่อง เชื่อ ธปท.จะพิจารณาเพิ่มกรอบเงินเฟ้อ

SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4

กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เช่นเดียวกับการประชุมครั้งที่แล้ว โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวสอดคล้องกับที่ กนง. ประเมินไว้