'ไพบูลย์' เผย 3 เงื่อนไขชี้เป็นชี้ตายตลาดหุ้นไทยปี 2567

20 ธ.ค.2566 - นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จํากัด และกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ปี 2567 ตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร” ระบุว่า ปี 2566 เป็นปีที่น่าผิดหวังสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย SET ให้ผลตอบแทน -17% ต่ำเกือบที่สุดในโลก อยู่อันดับ 68 จากทั้งหมด 69 ตลาดหุ้นหลัก และมี 14 ตลาดหุ้นเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนติดลบในปีนี้

ที่น่าผิดหวังยิ่งขึ้นคือ นักลงทุนเริ่มต้นปีด้วยความคาดหวังสูง เพราะมีปัจจัยสนับสนุนใหม่ ทั้งการท่องเที่ยว การเปิดประเทศของจีน และโดยเฉพาะการเลือกตั้ง แต่อย่างที่ทราบกัน แม้ท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี แต่เศรษฐกิจจีนอ่อนแอกว่าที่คิด และเราใช้เวลาถึงสี่เดือนในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก

ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่น จากกรณีหุ้น MORE หุ้น STARK รวมทั้งข่าวลือเรื่องการขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นในมือ และการใช้โปรแกรมเทรดแบบไม่เป็นธรรม ซึ่งสองกรณีหลัง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการกระทำลักษณะดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ปีนี้เหมือนฉายหนังคนละม้วน เพราะตลาดหุ้นโลกปรับขึ้นเฉลี่ย 18% (วัดจากดัชนี MSCI All Countries) และมีถึง 25 ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 18% เช่น ญี่ปุ่น (+26%) ไต้หวัน (+25%) สหรัฐฯ (+23%) อินเดีย (+18%)

พระเอกของปีนี้คือ หุ้น ‘Magnificent Seven’ (Apple, Microsoft, Google, Amazon, Nvidia, Tesla, Meta) ใครมีหุ้นเหล่านี้ถือว่าได้แจ็คพอต เพราะให้ผลตอบแทนสูงถึง 75%

แล้วตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้

ผมเชื่อว่า Downside risk ของตลาดหุ้นไทยเหลือไม่มาก ประเมินจาก Forward P/E ปัจจุบันที่ 14 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปี ที่ 15 เท่า และไม่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกำไรบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะเติบโตระหว่าง 11-15% ในปีหน้า

ตลาดหุ้นไทยอาจดูแพง ถ้าเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียมี Forward P/E ที่ 13 เท่า แต่ไม่น่ากังวล เพราะ Valuations ของไทยสูงกว่าเอเชียมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับสู่ขาขึ้นในปี 2567 แต่ขึ้นอยู่กับสามเงื่อนไข ดังนี้

เงื่อนไขแรก รัฐบาลต้องบริหารเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวในระดับ 3-4% ในปีหน้า และในปีถัดๆ ไป
ข้อดีคือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มดูสดใสขึ้น จากท่าทีล่าสุดของเฟดที่ส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ย ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยลดโอกาสเกิด Recession ในสหรัฐฯ ยังส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง
อีกตัวแปรหลักคือจีน ที่รัฐบาลเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่แล้ว และมีแผนที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของจีนเร่งตัวขึ้นเช่นกัน

ปีหน้าจึงเป็นปีที่การส่งออกของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว ซึ่งเมื่อรวมกับภาคท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี และกำลังซื้อในประเทศที่คาดว่าจะทยอยเร่งตัวขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การลดค่าครองชีพ การพักหนี้เกษตรกร ฯลฯ การทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับ 3% ในปีหน้าไม่น่าเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับรัฐบาล

โจทย์ที่ยากกว่า คือการรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนรอบใหม่ (New Investment Cyle) เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ รวมทั้งเริ่มจัดการกับปัญหาโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ง่าย และต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ที่แน่วแน่

การเร่งดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าสามารถขับเคลื่อนจนเกิดผลลัพธ์ได้จริง เชื่อว่าจะช่วยให้ GDP ของไทยกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 4% ในระยะยาว พร้อมๆ กับสร้างจุดขายใหม่ (Catalyst) ให้กับตลาดหุ้นไทย

เงื่อนไขที่สอง รัฐบาลต้องรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผมเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะยังมีความจำเป็น และผมเชื่อว่าตลาดทุนจะตอบรับเชิงบวกถ้ารัฐบาลเลือกใช้มาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจสูง และส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่ต่อเนื่อง

เงื่อนไขที่สาม ภาครัฐต้องไม่ออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในรูปแบบที่ไม่ได้มาตรฐานสากล เพราะอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุน ซึ่งนอกจากจะทำให้สภาพคล่องลดลง ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ

ถ้าทำได้ทั้งสามเงื่อนไขนี้ ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับมา Outperform ตลาดหุ้นโลกในปีหน้า ที่น่าสนใจคือ ตลาดหุ้นไทยไม่เคยให้ผลตอบแทนติดลบ 2 ปีติดต่อกัน แม้แต่ครั้งเดียวในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

แน่นอน การฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนคือหัวใจสำคัญ ผมเชื่อว่ามาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และที่กำลังดำเนินอยู่โดยองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งการเริ่มมีการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายหุ้นที่ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น และสม่ำเสมอขึ้น คือแนวทางที่ถูกต้อง ตราบใดที่ยังอยู่ในกติกาสากล และจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นในที่สุด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘พิชัย’ บรรยายที่ ม.โตเกียว คุย ปชต.ไทยมั่นคง ชี้มีบทเรียนรัฐประหาร10 ปี 

“พิชัย” บรรยายที่ ม.โตเกียว ย้ำ ปชต.ไทยมั่นคง ส่งผลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เชื่อ 10 ปี มีบทเรียน ลุยสร้างความมั่นใจนักธุรกิจญี่ปุ่น เร่งดันการค้า-ลงทุนไหลเข้าประเทศ

เปิดภารกิจนายกฯบินพบนักธุรกิจ-คนไทยในแอลเอ. ชวน ‘บิ๊กระดับโลก’ ลงทุนไทย

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อม ด้วยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะออกเดินทางเยือนนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา

นายกฯ ถกกลุ่มบริษัท SAAB SEB ติดตามดึงนักลงทุนตั้งโรงงาน Astra Zeneca

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 09.35 น. ซึ่งวันเดียวกันนี้ไม่มีวาระงานอย่างเป็นทางการ โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางเข้าพบนายกฯ เพื่อรายงานสรุปการดำเนินงานในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โจทย์ยากรัฐบาล ทุนข้ามชาติไหลออก ตลาดทุนทรุด

ทุนข้ามชาติไหลออกโจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทยตลาดทุนทรุด ต้องสร้างความโปร่งใสข้อมูลทางการเงินบริษัทจดทะเบียน ยกมาตรฐานตลาดหุ้นไทยสู่ OECDเทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนเร็วภาคอุตสาหกรรมไทยปรับไม่ทัน นักลงทุนต่างชาติยังโยกเงินทุนโดยตรงและการลงทุนในตลาดการเงินออกจากไทยต่อเนื่อง สถานการณ์ระยะสั้นเฉพาะหน้ายังผันผวนจนกว่ามีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมตอบสนองต่อตลาดโลกดีขึ้นและ ระบอบประชาธิปไตยไทยมีเสถียรภาพ