‘อนุสรณ์’ เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้นปี เชื่อหนุนกำลังซื้อ เงินเฟ้อน้อย

17 ธ.ค.2566-รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไตรภาคีในต้นปีหน้าว่า เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้นปี หากไม่ปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสม ไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การปรับเพิ่มค่าจ้างจะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อภายในระบบเศรษฐกิจ และ มีแรงกดดันเงินเฟ้อน้อยมาก เพราะไม่ได้ปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน  ระบบไตรภาคีต้องปรับค่าจ้างของแรงงานนอกระบบให้เป็นค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต (Living Wage) ค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) นั้นไม่เพียงพอ แรงงานนอกระบบมักมีสภาพการจ้างที่ไม่เป็นทางการ ไม่เป็นธรรม ขาดความมั่นคงในงานและไม่มีสวัสดิการแรงงาน รวมทั้งมักถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน วันไหนขาดงานก็จะไม่ได้ค่าจ้าง แม้จะลางานเนื่องจากการเจ็บป่วยก็ตาม

ล่าสุดทางอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย ระเบียบ ปรับปรุงการกำหนดอัตราเงินสมทบ การเพิ่มการจัดเก็บเงินสมทบและการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคมจึงเสนอให้บอร์ดประกันสังคมให้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่มขึ้น โดยเดิมนั้น มีเงินทดแทนอัตรา 50 บาทต่อครั้ง ให้เพิ่มเป็น 200 บาทต่อครั้ง (ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง) ถือเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์มากกว่า 400% เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีเจ็บป่วยประเภทผู้ป่วยนอกให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 นอกจากนี้ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวยังเป็นไปตามอนุสัญญา 102 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ระบุว่า ต้องจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยอย่างน้อย 45% จากฐานค่าจ้าง

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันค่าจ้างของแรงงานภาคอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่ 1. ระบบค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างในสถานประกอบการกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีและการประกาศบังคับใช้กฎหมายโดยกระทรวงแรงงาน เดิมระบบค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่โดยมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีในจังหวัดของตัวเอง และมีการปรับเพิ่มค่าจ้างเป็น 300 บาทอัตราเดียวทั่วประเทศสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

2. ระบบค่าจ้างเงินเดือนในสถานประกอบการ คือ ค่าจ้างที่นายจ้างเป็นผู้กำหนดจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนตามผลงานในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาในสถานประกอบการหลายแห่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้มีกำหนดโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน ปัญหาอีกประการหนึ่งในปัจจุบัน คือ การไม่มีความแตกต่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องการให้เป็นเพียงค่าจ้างของแรงงานไร้ฝีมือในระยะแรกของการทำงานไม่ใช่ค่าจ้างของลูกจ้างที่ทำงานมาหลายปีจนมีทักษะฝีมือแล้ว ค่าจ้างในระบบนี้มักเป็นไปตามค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน

3. ระบบค่าจ้างรายชิ้น เป็นระบบค่าจ้างที่จ่ายให้ตามจำนวนชิ้นงานโดยไม่คำนึงถึงเวลาที่ใช้ในการผลิต ใช้กับแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งค่าจ้างถูกกำหนดโดยผู้ว่าจ้าง จากการศึกษาของ ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ และ นภาพร อติวานิชพงศ์ พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับเมื่อคำนวณตามชั่วโมงการทำงานแล้วต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน และโดยส่วนใหญ่ลูกจ้างไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องค่าจ้างรายชิ้น ยกเว้นในกรณีมีอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าสูงมีความจำเป็นต้องการแรงงานเพื่อเร่งผลิต อำนาจต่อรองของลูกจ้างรายชิ้นจึงสูงขึ้น ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล รูปแบบการจ้างงานและค่าจ้างจะอยู่ในระบบนี้มากขึ้นตามลำดับ เพราะมีความยืดหยุ่นสูงกว่าระบบค่าจ้างเงินเดือนในสถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทนไปสู่ลูกจ้างทำงานในระบบนี้หรือทำงานตามบ้าน เพื่อให้มีการขยายความคุ้มครองประกันสังคมไปยังแรงงานกลุ่มดังกล่าวและทำให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน

 4. ระบบค่าจ้างของแรงงานนอกระบบและแรงงานอิสระ ระบบค่าจ้างของแรงงานนอกระบบมักยึดการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) เป็นพื้นฐานโดยไม่ใช่ค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต (Living Wage) แรงงานนอกระบบมักมีสภาพการจ้างที่ไม่เป็นทางการ ไม่เป็นธรรม ขาดความมั่นคงในงานและไม่มีสวัสดิการแรงงาน รวมทั้งมักถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

หลักเกณฑ์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำตามมาตรฐานสากล ตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ นั้น หมายถึง อัตราค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว (ตัวลูกจ้าง + ภรรยา 1+ บุตร 2 คน) ให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขเป็นเกณฑ์การพิจารณา อย่างไรก็ตาม หลายประเทศกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจรวมทั้งไทยมิได้ใช้คำนิยามดังกล่าวขององค์การแรงงานระหว่างประเทศมาเป็นแนวทางในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ และ ต้องพิจารณาดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและความพร้อมของภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจอีกด้วย

หากเราสามารถจ่ายได้ตามคำนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ สถาบันครอบครัวจะเข้มแข็งขึ้น ลูกๆของคนงานจะได้รับการดูแลให้ดีขึ้นด้วยค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น แต่สถานประกอบการขนาดเล็กอาจไม่มีความสามารถในการจ่าย   การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในแต่ละปีนั้น แต่ละประเทศก็จะมีแนวทางและหลักเกณฑ์ของตนเองแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นของ ภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living) ของปีนั้นๆ เป็นหลัก  หากภาวะค่าครองชีพ ปรับเพิ่มขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำก็จะต้องปรับเพิ่มตามไปเท่านั้น เรียกว่า ปรับเพิ่มตามภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living Adjustment) เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอกับภาวะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ลูกจ้างอาจไม่มีเงินเพียงพอในการเก็บออม

คณะกรรมการค่าจ้างประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ หรือ ระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณากำหนด ประเทศไทยใช้มาทั้งระบบอัตราเดียวทั่วประเทศและระบบหลายอัตรากำหนดตามพื้นที่กลุ่มจังหวัดต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่ของประเทศ องค์กรลูกจ้างมีความอ่อนแอหรือไม่มีองค์กรลูกจ้างอยู่ การปรับเพิ่มค่าจ้างจะน้อยมาก การปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงขึ้นอยู่กับอำนาจตัดสินใจของนายจ้างและรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเท่าไหร่ก็อยู่ที่การเจรจาหารือกันในระบบไตรภาคี ส่วนการปรับขึ้นเท่าไหร่ก็ต้องดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและภาวะเศรษฐกิจด้วย อย่างไรก็ตาม ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยให้สูงกว่าเงินเฟ้อ

ขบวนการแรงงานและองค์กรผู้ใช้แรงงานเคยเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทอัตราเดียวทั่วประเทศมาหลายปีแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยการปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้นควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกมิติเพื่อให้เกิดผลดีต่อสวัสดิภาพต่อแรงงานอย่างแท้จริง และเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ รวมทั้งเพิ่มต้นทุนของการผลิตมากเกินไป การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและใช้กลไกไตรภาคี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปัดเตะถ่วง! นายกฯแพทองธาร ยันค่าแรง 400 บาท จะขึ้นภายในปีนี้

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความชัดเจนในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทที่ดูเหมือนจะเลื่อนการจ่ายเงินจากวันที่ 1 ต.ค. 2567 ออกไป

ถกค่าแรง 400 บาทล่ม ประชุม 3 ฝ่ายสะดุด!

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เป็นประธานการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่ 9/2567 ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาปรับอัตรา

พิพัฒน์ เรียกร้องนายจ้าง เห็นใจลูกจ้าง ขึ้นค่าแรง 400 บาท วอนเข้าร่วมประชุมไตรภาคี พรุ่งนี้ 13.30 น. แย้ม ก.คลัง เห็นด้วยมาตรการบรรเทาผลกระทบนายจ้าง

วันที่ 19 กันยายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขึ้นค่าแรง 400 บาทว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.67) เวลา 13.30

พิพัฒน์ ย้ำ 1 ต.ค.ค่าแรง 400 บาท เผยมีข้อเสนอ 7 มาตรการ ช่วยบรรเทาผลกระทบทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงข้อเสนอจากกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือนายจ้างกรณีขึ้นค่าแรง 400 บาทในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ว่า กระทรวงแรงงานได้รับข้อหารือจากผู้ประกอบการ

สินเชื่อรถยนต์เข้ม หนี้ครัวเรือนสูง ฉุดการผลิตงวด ก.ค. 67 ลดลง 16.62%

ส.อ.ท.ชี้สินเชื่อรถยนต์เข้ม หนี้ครัวเรือนสูง กดดันยอดขายในประเทศหดตัว ฉุดการผลิตงวด ก.ค. 67 ลดลง 16.62% พร้อมโดนสงครามซ้ำเติม ตลาดกลุ่มประเทศลูกค้าไม่โต ยอดส่งออกร่วง 22.70%