กรมการค้าต่างประเทศเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 62,190.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดอาเซียนยังคงเป็นอันดับหนึ่งสำหรับตลาดที่มีการใช้สิทธิฯ ส่งออกมากที่สุด ตามมาด้วยอาเซียน-จีน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-ออสเตรเลีย และอาเซียน-อินเดีย
14 ธ.ค. 2566 – นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 (มกราคม – กันยายน) มีมูลค่ารวม 62,190.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 82.89% โดย FTA ที่ไทยใช้สิทธิฯ ส่งออกสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีมูลค่า 22,471.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 36.13% ของมูลค่าการใช้สิทธิ์ทั้งหมด และมีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกไปอินโดนีเซียสูงสุดมูลค่า 5,477.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับที่สองเป็นมาเลเซีย มูลค่า 5,314.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม มูลค่า 5,180.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และฟิลิปปินส์ มูลค่า 4,055.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ สำหรับสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของ น้ำตาลที่ได้จากอ้อย น้ำมันปิโตรเลียม และน้ำมันจากแร่บิทูมินัส รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคลขนาดเล็ก และเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง
นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนแล้วไทยยังมี FTA อื่นที่มีการใช้สิทธิประโยชน์สูงรองลงมา ได้แก่ อันดับ 2 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) คิดเป็นมูลค่า 18,762.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐและมีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์เป็น 94.34% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ โดยสินค้าทุเรียนสดยังคงเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุด อันดับ 3 เป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) คิดเป็นมูลค่า มูลค่า 5,193.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 76.93% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุดภายใต้ความตกลงฯ ยังคงเป็นอาหารแปรรูป อาทิ เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง มาที่อันดับ 4 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) คิดเป็นมูลค่า 4,642.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 63.04% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงอย่างต่อเนื่องคือ รถยนต์และยานยนต์ที่มีเครื่องดีเซลหรือกึ่งดีเซล และความตกลงการค้าที่มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์เป็นอันดับ 5 คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) คิดเป็นมูลค่า 4,117.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐและมีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 69.20% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ โดยมีลวดทองแดงเป็นสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุดภายใต้ความตกลงดังกล่าว
กรมการค้าต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้ติดอาวุธสำหรับการแข่งขันด้วยการสร้างแต้มต่อทางการค้า ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA โดยกรมการค้าต่างประเทศมีโครงการจัดการสัมมนาเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้ามาโดยตลอด และในปีงบประมาณ 2567 มีแผนจัดการสัมมนาภายใต้โครงการส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่องยกระดับการค้าสู่สากลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ตามจังหวัดสำคัญต่าง ๆ ซึ่งการสัมมนาครั้งแรกได้จัดขึ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม กรุงเทพฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 400 คน
การสัมมนาของกรมการค้าต่างประเทศจะมุ่งเน้นการให้ข้อมูลที่ผู้ประกอบการต้องรู้หากต้องการใช้ประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และขั้นตอนการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าผ่านระบบการให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัลของกรมการค้าต่างประเทศ นอกจากนี้ ได้เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการไทยที่ได้ใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อสร้างแต้มต่อในการส่งออก รวมทั้งรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการแข่งขันทางการค้าจากผู้ประกอบการไทย รวมถึงการจัด Workshop ให้ผู้ประกอบการได้ทดลองใช้ระบบตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าแบบไร้กระดาษ (ROVERs PLUS) เสมือนจริงซึ่งกรมการค้าต่างประเทศจะมีการจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริม SME เป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งปีหน้านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนกลยุทธ์การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA ตามสถานการณ์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถติดตามข้อมูลการสัมมนาครั้งต่อไปได้ผ่าน Facebook “กรมการค้าต่างประเทศ DFT”
ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศพร้อมให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ผู้ประกอบการสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทรสายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชัน ชื่อบัญชี “@gsp_helper”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พาณิชย์คลอดมาตรการ ‘อนุญาตให้นำเข้า' ก่อน ‘ห้ามนำเข้า’ เศษพลาสติก
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศออกกฎกำหนดมาตรการนำเข้าเศษพลาสติก 2 ฉบับ เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมและป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยเป็นการดำเนินการตามนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566
'พาณิชย์'จ่อใช้ยาแรงสกัดกั้นการนำเข้าขยะ
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ เตรียมยกระดับมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าขยะ หากยังพบว่ามีการสำแดงสินค้าว่าเป็นเศษกระดาษที่คัดแยกประเภทแล้วนำเข้ามาเพื่อรีไซเคิล แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าสินค้ามีขยะเจือปนอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นของเสียอันตรายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน และก่อให้เกิดมลพิษอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม
พณ. หนุน SME ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก FTA
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ลุยต่อจัดสัมมนา โครงการส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล จัดขบวนทัพนักวิชาการ นักธุรกิจแบรนด์ชื่อดัง ส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก FTA แบบครบวงจร
กรมการค้าต่างประเทศคุมเข้มคุณภาพมันเส้นนำเข้า-ส่งออก
กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ไม่แผ่ว เดินเครื่องคุมเข้มคุณภาพมันเส้นนำเข้า-ส่งออกต่อเนื่อง ล่าสุดพบผู้นำเข้ามันเส้นด้อยคุณภาพเพิ่มอีก 7 ราย รวมเป็น 23 ราย สั่งลงโทษทันที
พาณิชย์โชว์ Soft Power อาหารไทย กินกับ 'ข้าวไทย'
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศนำทัพประชาสัมพันธ์ข้าวพรีเมียม ส่งเสริม Soft Power อาหารไทย ในงานประชุมข้าวนานาชาติ ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมค้าข้าวทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 400 ราย และใช้โอกาสนี้เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางการค้าข้าวไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 17 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิตและการค้าข้าว ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทางการค้าข้าวระหว่างสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและสมาคมอาหารเวียดนามในฐานะผู้ส่งออกข้าวสำคัญของโลก
พาณิชย์บุกดูไบโปรโมตข้าวไทย
“กรมการค้าต่างประเทศจัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้า Gulfood 2024 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในระหว่างวันที่ 19 - 23 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมคูหาต่อเนื่องตลอดงาน”