“บอร์ดเร่งรัดลงทุน อีอีซี” ไฟเขียวจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์เชื่อมร่วมมือ “บีโอไอ-กนอ.” ดึงลงทุนเข้าประเทศ พร้อมอัปเดต 4 โปรเจกต์หลัก เร่งเคลียร์ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ลุ้นอัยการตีความบัตรส่งเสริมการลงทุน คาดเริ่มสร้างปีหน้า เสร็จตามแผนในปี 71 ส่วน “เมืองการบิน-แหลมฉบังเฟส 3-ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด” เปิดใช้ปี 70
11 ธ.ค. 2566 – นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงานหน่วยงานภาครัฐ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ ในด้านพื้นที่การให้สิทธิประโยชน์ สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา48 ของ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 35 เขต แบ่งเป็นพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม 28 แห่งและพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 7 แห่ง โดยพื้นที่นอกเหนือเขตส่งเสริมฯ ดังกล่าว จะเป็นไปตามกฎหมายของบีโอไอและ กนอ. ด้านผู้รับสิทธิประโยชน์ สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องเป็นโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริมลงทุน และไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ร่วมกับโครงการจากบีโอไอมาก่อน
นายจุฬา กล่าวต่อว่า กรณีโครงการเคยได้รับส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ สกพอ. จะพิจารณาเฉพาะสิทธินอกเหนือ เช่นสิทธิประโยชน์ถือครองห้องชุด สิทธิประโยชน์ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากร เป็นต้น ด้านการอนุมัติอนุญาตตามกฎหมาย สกพอ. ได้มีระบบบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC One Stop Service) รองรับการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต รับแจ้งจดทะเบียนตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายว่าขุดดินถมดิน การควบคุมอาคาร การจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายคนเข้าเมือง เป็นต้น
ทั้งนี้ จำเป็นต้องร่วมกับบีโอไอ และ กนอ. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน โดยสิทธิประโยชน์ของ สกพอ. จะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 อีกทั้ง ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ สกพอ. บีโอไอ และ กนอ. และหน่วยงานที่เกียวข้อง มีคณะทำงานฯ ร่วมกัน ทำหน้าที่เป็นกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางรับรองนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายจุฬา กล่าวอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนโครงการโครงสร้างพื้นฐานนั้น ที่ประชุม ฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการลงทุน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีมติให้เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือ ช่วงพญาไทถึงบางซื่อให้เสร็จภายใน พ.ค. 2567 ส่วนพื้นที่อื่น มีความพร้อมสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) แล้ว คงเหลือแต่รอให้เอกชนคู่สัญญาส่งเอกสารไปที่บีโอไอ เพื่อรับบัตรส่งเสริมการลงทุน ที่จะหมดอายุในวันที่ 22 ม.ค. 2567
ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเตรียมออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ซึ่งในเงื่อนไขของการออก NTP ระบุไว้ว่าเอกชนคู่สัญญาจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนก่อน เพื่อครบเงื่อนไขเริ่มต้นโครงการที่กำหนดในสัญญา โดย รฟท. จึงได้ยื่นไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม หากสำนักงานอัยการสูงสุดตีความว่า สามารถส่งมอบพื้นที่ได้โดยไม่ต้องรอบีโอไอ โดย รฟท. จะเร่งรัดเอกชนคู่สัญญาให้แล้วเสร็จภายใน ม.ค. 2567 ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนในปี 2567
อย่างไรก็ตามส่วนปัญหาการพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวนั้น ปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งในวันที่ 13 ธ.ค. 2566 จะมีการประชุมร่วมกับเอกชนคู่สัญญาเพื่อพิจารณารายละเอียดร่างสัญญาอีกครั้ง ก่อนจะเสนอไปยังอัยการสูงสุด หากพิจารณาเห็นชอบก็จะเสนอกลับมายัง กพอ.เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติลงนามสัญญาใหม่ต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่า โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2571
นายจุฬา กล่าวต่ออีกว่า 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ประชุมมีมติให้เร่งรัดกองทัพเรือประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างทางวิ่ง 2 และทางขับ ภายในกลาง ธ.ค. 2566 และเร่งรัดให้ สกพอ. รฟท. และเอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และเอกชนคู่สัญญาโครงการสนามบินอู่ตะเภา สรุปแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เงื่อนไขการเริ่มต้นโครงการครบสมบูรณ์ตามที่กำหนดในสัญญา และโครงการสนามบินอู่ตะเภา สามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายใน ม.ค. 2567 โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการตามแผนในปี 2570
3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีมติให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยเร่งรัด และกำกับการก่อสร้างงานถมทะเล (Infrastructure) ให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที้ให้เอกชนคู่สัญญาภายใน พ.ย. 2568 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือ (Superstructure) ในส่วนท่าเรือ F1 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการปลายปี 2570
4.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีมติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ติดตามการถมทะเล (Infrastructure) ของเอกชนคู่สัญญา ให้แล้วเสร็จภายในธ.ค. 2567 โดยในปัจจุบันงานมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 69.64% และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือก๊าซเสร็จและเปิดให้บริการต้นปี2570
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลโอ่ผลงานยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเชื่อมโยงอีอีซี
รัฐบาลยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เชื่อมโยงอีอีซี ล่าสุดกรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.3481 ตอน บ้านหัวไผ่ - การเคหะฯ จังหวัดปราจีนบุรี แล้วเสร็จ
'พิชัย' ชวนนักธุรกิจ นักลงทุน สหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี - แลนด์บริดจ์
'พิชัย' เปิดเวทีชวนนักธุรกิจ นักลงทุนสหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี แลนด์บริดจ์ พร้อมเจรจาปักหมุดให้ไทยอยู่ในโฟกัสชาวโลก
ด่วน! ครม.เห็นชอบ 'อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์' เป็นปลัดมหาดไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 6 สค. ครม. ที่มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดี