"ธพส." กางแผนยุทธศาสตร์ปี2567 รุกเพิ่มช่องทางหารายได้ลุยธุรกิจนอกศูนย์ราชการเพื่อเติบโต

10 ธ.ค. 2566 – บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) หรือ DAD Asset Development เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เกิดการหมุนเวียนผ่านเม็ดเงินลงทุนในโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเป็นองค์กรสมัยใหม่ในการพัฒนาและบริหารทรัพย์สินของรัฐให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน”

โดยมีพันธกิจ (Mission) ที่สำคัญ 4 พันธกิจ เพื่อให้ ธพส.เป็นองค์กรสมัยใหม่ในการพัฒนาและบริหารทรัพย์สินของรัฐให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย 1.พัฒนาศูนย์ราชการให้ทันสมัย และบริหารจัดการให้เกิดความสมดุล 2.พัฒนาและบริหารทรัพย์สินของรัฐให้เกิดมูลค่าเพิ่มทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักธรรมาภิบาล 3.พัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้ที่หลากหลายและสร้างประโยชน์แก่รัฐ และ 4.พัฒนาองค์กรด้วยนวัตกรรมและการบริหารจัดการสมัยใหม่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา DAD ได้พยายามเดินหน้าพัฒนาหลากหลายโครงการก่อสร้าง และวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าทำได้ค่อนข้างดี

สำหรับปี 2567 นั้น นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) หรือ DAD Asset Development กล่าวว่า ธพส.ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้จาก 2 ช่องทางหลัก คือ รายได้จากการบริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ และรายได้จากโครงการที่ไม่ใช่ศูนย์ราชการฯ ได้แก่ ธุรกิจการรับพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรับบริหารจัดการอาคาร งานบริหารจัดการสนามกอล์ฟบางพระ จังหวัดชลบุรี และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่

“จากแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปีของ ธพส.ซึ่งเริ่มจากปี 2566 โดยเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์ราชการฯ โซน C และขยายงานตามแผนธุรกิจ จากนั้นในช่วงปี 2567-2568 เริ่มทยอยส่งมอบโครงการโซน C และปรับปรุงอาคารโซน A และ B การรับพัฒนาและก่อสร้างอาคาร รับบริหารจัดการอาคาร และการพัฒนายกระดับองค์กรสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

ดังนั้น ในปี 2567 ธพส.จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโซน C และรับรู้รายได้จากโครงการอาคารสำนักงานกรมสรรพสามิตที่ได้ส่งมอบไปแล้ว นอกจากนั้นได้เตรียมเดินหน้าโครงการก่อสร้างต่างๆ เช่น โครงการที่พักผู้สูงอายุ รามาฯ-ธนารักษ์ การขยายงานรับพัฒนาโครงการ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มใหม่ปีละ 2 โครงการ

“สำหรับปี 2567 มีโครงการใหม่ที่เตรียมก่อสร้างจำนวน 2 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 1,390 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาพื้นที่ท่าเทียบเรือศุลกากร เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี วงเงินลงทุน 400 ล้านบาท ดำเนินการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกรมศุลกากรเรียบร้อยแล้ว และ 2.โครงการก่อสร้างอาคารและที่พักอาศัยของกรมสรรพากร วงเงินลงทุน 992 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ซึ่งทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เมื่อแล้วเสร็จ ธพส.จะจัดหาผู้ดำเนินการก่อสร้างเพื่อเริ่มงานได้ทันที”

นาฬิกอติภัค กล่าวอีกว่า ได้กำหนดโครงการเป้าหมายบรรจุไว้ในแผนดำเนินงานปี 2567 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือและศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาอีกจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการคลังเอกสาร อาคารจอดรถชั้น 5 (PPP) โครงการอาคารสำนักงาน สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 10 รวมถึงวางแผนเพิ่มรายได้จากการขยายธุรกิจ การศึกษาความเป็นไปได้ของการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน การขยายพื้นที่การบำรุงรักษาอาคารจากโครงการใหม่ที่ ธพส.ได้ส่งมอบไปแล้ว

ส่วนอีกหนึ่งโครงการซึ่งเป็นที่สนใจ นั่นคือ “สวนลอยฟ้า” 2 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 8,662 ตารางเมตร หรือราว 5.4 ไร่ จากการจัดสรรพื้นที่อาคารจอดรถและซ่อมบำรุง (Depot) ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่ศูนย์ราชการฯ จำนวน 40 ไร่ เพื่อยกระดับศูนย์ราชการฯ ให้เป็นมากกว่าสถานที่ทำงาน หรือสถานที่ราชการ แต่เป็นพื้นที่ปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567

โดยสวนลอยฟ้าแห่งแรกตั้งอยู่บนดาดฟ้าชั้น 11 อาคารจอดรถ Depot ขนาดพื้นที่กว่า 2,789 ตารางเมตร และแห่งที่สองอยู่บนดาดฟ้าที่จอดรถอาคาร A ขนาดพื้นที่ 5,872 ตารางเมตร เชื่อมต่อกับชั้น 2 ของอาคารจอดรถ Depot ซึ่ง ธพส.ได้สร้างทางเดิน Skywalk ระยะทาง 213 เมตร เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีศูนย์ราชการฯ และยังเพิ่มความร่มรื่นด้วยการจัดให้มีพื้นที่สวนสาธารณะด้านหน้าอาคารอีก 1,701 ตารางเมตร บริเวณด้านหน้าของอาคาร โดยทั้งหมด ธพส.พัฒนา และจะเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไป ผู้มาใช้บริการและผู้ที่ทำงานในศูนย์ราชการฯ ได้เข้ามาใช้บริการ

สิ่งที่ ธพส.มุ่งมั่นดำเนินการมาโดยตลอดเพื่อให้ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนย่านหลักสี่ แจ้งวัฒนะ จึงผลักดันสองเรื่องสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง คือ การจัดการจราจรเพื่อลดความแออัด และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากเราจะใช้นวัตกรรมในการสร้างอาคารที่ลดการใช้พลังงาน การจัดการน้ำเสียให้กลับมาใช้ประโยชน์ การจัดการน้ำฝนให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดปีแล้ว ธพส.ยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เป็นทั้งสถานที่ทำงาน แหล่งสันทนาการและสถานที่พักผ่อนที่ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความสุขได้อีกทางหนึ่ง

ด้านการยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืน ปี 2567 ได้เตรียมขยายผลมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่นอกเหนือศูนย์ราชการฯ การยกระดับบุคลากรให้เป็นวิทยากรอาคารเขียว หรือด้านพลังงาน ด้านการบำรุงรักษา จัดทำแผนงานหรือแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก จากการบริหารจัดการอาคารเป้าหมาย พร้อมดำเนินการตามแผนศึกษาแนวทาง Net Zero Building การบริหารจัดการอาคารโดยใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้าและผู้ใช้อาคาร การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรให้ได้มาตรฐานตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจใหม่ เพื่อตอกย้ำว่า ธพส.เป็นองค์กรสมัยใหม่ในการพัฒนาและบริหารทรัพย์สินของรัฐให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ในส่วนของผลการดำเนินงานปี 2566 ช่วง 3 ไตรมาสแรก ธพส.มีรายได้ 1,951 ล้านบาท เติบโต 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าเมื่อจบไตรมาส 4 รายได้รวมจะเพิ่มมาอยู่ที่ 2,593.6 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากโครงการศูนย์ราชการ 2,530.8 ล้านบาท และจากโครงการที่ไม่ใช่ศูนย์ราชการ 62.8 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 338.4 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายปี 2567 ธพส.จะมีรายได้ 3,156.5 ล้านบาท โดย DAD ได้ขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้จากโครงการนอกศูนย์ราชการฯ เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

ทั้งนี้ การบริหารจัดการธุรกิจในมิติใหม่ ที่สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ซึ่งมีความหลากหลายและครอบคลุม รวมถึงวิสัยทัศน์ที่เอื้อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ ธพส.เดินหน้าสู่เป้าหมายการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ยืนหนึ่งในเรื่องการพัฒนาโครงการในมิติต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การบริหารจัดการบนที่ดินราชพัสดุ แต่ยังต่อยอดไปถึงการบริหารจัดการธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ด้วย

ไม่เพียงแค่การวางกลยุทธ์และเป้าหมายในการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ที่ผ่านมา ธพส.ก็ได้มีการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจในหลากหลายมิติ เช่น การจัดกิจกรรมวันธรรมาภิบาล หรือ DAD CG Day 2023 ในรูปแบบโลกเสมือนจริง หรือ Metaverse ที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนเข้ามาสร้างตัวตนเป็น Avatar ในรูปแบบกราฟิก 3 มิติ บนแพลตฟอร์ม Spatial เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดความสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และก้าวทันเทคโนโลยีในโลกที่ไร้ขีดจำกัดได้ในอนาคต

อีกทั้งยังสอดแทรกเนื้อหาที่ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกด้านจริยธรรมในการปฏิบัติงานและการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างบรรยากาศที่สนับสนุนการเกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นการบูรณาการการสร้างธรรมาภิบาลในองค์กรไปพร้อมกับกระบวนการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ในรูปแบบองค์ความรู้จิ๊กซอว์สู่ความยั่งยืนของ DAD 12 เรื่อง ได้แก่ 1.การกำกับดูแลกิจการที่ดีและธรรมาภิบาล 2.การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ 3.การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน 4.การมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า 5.การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 6.การบริหารทุนมนุษย์ 7.การจัดการความรู้และนวัตกรรม 8.การตรวจสอบภายใน 9.การจัดการพลังงาน 10.การจัดการขยะ 11.อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และ 12. Eco-Efficiency.

เพิ่มเพื่อน