'เศรษฐา' ร่ายยาวปลุกตลาดทุนไทย

'เศรษฐา' ปลุกดึงศักยภาพ เสริมแกร่งตลาดทุนไทยระยะยาว เดินหน้าตอบโจทย์ความท้าทาย ด้านดิจิทัล ชูโปรเจกต์ Thailand ESG Fund วาง 3 แนวทางสู่ดัชนีความยั่งยืน

07 ธ.ค.2566 - ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานในงานสัมมนาแถลงยุทธศาสตร์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประจำปี 2567 พร้อมกล่าวปาฐกถาหัวข้อ"นโยบายและทิศทางตลาดหุ้นไทย" โดยมีนายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. และผู้บริหารให้การต้อนรับ

โดยนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับตลาดทุนไทย ต้องการดึงศักยภาพออกมาเต็มที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ที่ผ่านมาตลาดทุนไทยเผชิญกับความท้าทายระยะสั้น ทั้งสถานการณ์ความผันผวนของโลกและประเด็นความท้าทายด้านความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างมาก หากดูจากปัจจัยพื้นฐานของตลาดทุนไทยจะเห็นได้ว่าตลาดของเรา มีความแข็งแกร่งในระยะยาว และมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะเป็นจากมูลค่าหลักทรัพย์ซึ่งติดอันดับที่ 27 ของโลก และตลาดของเรายังมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน อีกทั้ง มีมูลค่าเสนอขายหุ้น IPO สะสมย้อนหลังกับสภาพคล่องที่สูงที่สุดในอาเซียน นับตั้งแต่ปี 2555

นายกฯ กล่าวว่า นอกจากความโดดเด่นในเรื่องเหล่านี้แล้ว วันนี้รัฐบาลเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง ทั้งด้านดิจิทัล และด้านความยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลกระทบ ทั้งต่อระบบตลาดทุน ระบบเศรษฐกิจ และแน่นอนสุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ด้านความยั่งยืน ส่วนที่เห็นได้เป็นรูปธรรม ก็คือ การจัดตั้ง Thailand ESG Fund ประเทศไทยเรามีจุดเด่นในเรื่องเหล่านี้ จากบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนในระดับสากลที่มีเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ภาครัฐเองก็ได้ออกพันธบัตรสีเขียวและในอนาคต ก็จะมีการระดมทุนไปดำเนินกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน

นายเศรษฐา กล่าวว่า ภาครัฐจึงให้ความเห็นชอบ Thailand ESG Fund ที่จะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อผู้ระดมทุน ในการต่อยอด สร้างโอกาสทางธุรกิจกิจสู่ความยั่งยืน การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และต่อผู้มีเงินออม ที่มีความสนใจในการลงทุนอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการได้ผลตอบแทนระยะยาว ซึ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. คาดว่าจะมี บลจ. ที่เสนอขายกองทุน ThaiESG จำนวน 16 บลจ. และจำนวนกองทุน รวม 25 กองทุน สร้างเม็ดเงินในการระดมทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากผู้ลงทุนที่อายุตั้งแต่ 30-60 ปี ไม่น้อยกว่า 100,000 บัญชี และคาดว่าจะส่งผลให้เกิด นักลงทุนหน้าใหม่ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

นายเศรษฐา กล่าวต่อไปว่า จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจโดยรวม โดยตลาดทุนไทยมีบทบาทสำคัญ เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทั้งผ่านการยกระดับช่องทางระดมทุน และการบริการให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ก.ล.ต. เอง ก็ได้ยกระดับ โดยปรับโครงสร้างองค์กร และเพิ่มส่วนงานในสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินมาใช้ในตลาดทุน โดยเฉพาะเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งตนทราบว่า นี่ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนยุทธศาสตร์ ของ ก.ล.ต. นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบในหลักการที่จะลดอุปสรรคที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางภาษี ซึ่งถ้าแก้ได้ก็จะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมยิ่งขึ้น ลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ออกและเสนอขาย รวมทั้งผู้ลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และยังเป็นการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุนผ่าน investment token เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

นายเศรษฐา กล่าวว่า ด้วยปัจจัยพื้นฐานดังกล่าว รัฐบาลมีแนวทาง 3 ข้อด้วยกันที่จะเสริมสร้างจุดแข็งของตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป เพื่อลดความผันผวน ส่งเสริมการเติบโตของศักยภาพตลาดลงทุนไทย โดยแนวทางแรก ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านการผลักดันให้ตลาดทุนไทย เป็น investment destination ของภูมิภาค ซึ่งจะเพิ่มการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยรัฐบาลจะเดินหน้าเร่งเจรจาและขยาย Free Trade Agreement (FTA) เปิดตลาดใหม่ ๆ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศทางยุโรปตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศ ผ่าน ease of doing business นอกจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินการนำเสนอข้อมูลการลงทุนของตลาดหุ้นไทย ผ่าน Road show เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

นายเศรษฐา กล่าวว่า แนวทางที่สอง คือ การ shift focus สู่ความยั่งยืน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายของประเทศไทย ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2608 ในการดำเนินการสู่ความยั่งยืนนี้ รัฐบาลจะดำเนินการส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยพัฒนากลไกให้ภาคธุรกิจ มีเงินทุนเพียงพอในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและให้ธุรกิจขนาดเล็ก เข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และมีเงินทุนเพื่อปรับตัวให้พร้อมรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมต่อไป

นายเศรษฐา กล่าวว่า ภาครัฐบาลเองจะดำเนินการผลักดันนโยบายการกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว หรือ Green Bond Market การระดมทุนเพื่อสนับสนุน SDGs และนโยบายการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล กลไกการเงินสีเขียว หรือ green finance mechanism โดยได้ตั้งเป้าการออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “Sustainability-Linked Bond” ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน และการจัดทำThailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

นายกฯ กล่าวว่า แนวทางที่สาม คือ การสนับสนุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล SMEs และ Startups เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ เติบโตและขยายต่อไปได้ในระดับโลก สำหรับด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมและในส่วน SMEs และ Startups ภาครัฐ จะมีการพัฒนากลไกช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดหาเงินทุน ตลอดจนการเปิดตลาด แนวทางของรัฐบาลดังที่กล่าวเป็นส่วนที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการในภาคตลาดทุน

นายกฯ กล่าวด้วยว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกหลาย ๆ ปัจจัย ที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจไทยของเราโตได้เต็มศักยภาพอีกมหาศาลรัฐบาล ยังมีนโยบายอีกหลายหลายด้าน ที่จะดำเนินการในภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งครอบคลุมทั้งการแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน การส่งเสริมภาคธุรกิจ การขยายการลงทุน และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่จะมาช่วยสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาส ซึ่งมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า หากผนวกการดำเนินการของรัฐบาลในทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันแล้ว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทย และตลาดทุน เติบโต และประชาชนคนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจนี้ อย่างยั่งยืนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง