ยอดส่งออกข้าวไทยพุ่ง 10 เดือนเฉียด 7 ล้านตัน หลังอินโดนีเซียปลูกได้น้อย เจอภัยแล้งซ้ำ

6 ธ.ค. 2566 – นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ติดตามข้อมูลสถานการณ์การค้าสินค้าข้าว พบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) อินโดนีเซียกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย สาเหตุหลักมาจากอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาขาดแคลนข้าว เนื่องจากภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงฤดูมรสุม ที่ล่าช้า ทำให้อินโดนีเซียปลูกข้าวได้น้อยลง

สนค. ได้ศึกษาข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ซึ่งรายงานว่า ผลผลิตข้าวอินโดนีเซียในฤดูฝนอาจลดลง เนื่องจากฤดูมรสุมล่าช้า โดยคาดการณ์ผลผลิตข้าวของอินโดนีเซีย ปี 2566/67 อยู่ที่ 33.5 ล้านตัน (ข้าวสีแล้ว) ปรับลดลงร้อยละ 3 จากที่คาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ขณะที่พื้นที่เก็บเกี่ยวข้าว อยู่ที่ 11.3 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 70.6 ล้านไร่) ลดลงร้อยละ 3 จากคาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ส่วนผลผลิตคาดว่าจะอยู่ที่ 4.67 ตันต่อเฮกตาร์ ลดลงเล็กน้อยจากคาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2566 อินโดนีเซียปลูกข้าวได้ 3 รอบในหนึ่งปี รอบแรกปลูกในฤดูฝนเป็นหลัก ช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม (สัดส่วนประมาณร้อยละ 45 ของการปลูกข้าวทั้งหมด) และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน และปลูกในฤดูแล้งอีก 2 รอบ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าวหลักของอินโดนีเซียจะปลูกบริเวณพื้นที่ราบลุ่มและพื้นที่สูงทั่วประเทศ มีทั้งนาชลประทานและนาน้ำฝน แต่การทำนาส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียอาศัยน้ำจากระบบชลประทานถึงร้อยละ 85 โดยจะใช้ในพื้นที่เพาะปลูกเป็นที่ราบลุ่ม ซึ่งต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อเติมปริมาณน้ำให้กับระบบชลประทานอยู่เสมอ

สำหรับการคาดการณ์ว่า พื้นที่ปลูกข้าวของอินโดนีเซียมีแนวโน้มลดลงในปี 2566/67 มีสาเหตุหลักมาจากความล่าช้าของฤดูมรสุมและปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณเกาะชวา ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลัก รวมทั้งบางส่วนของเกาะสุมาตราตอนใต้ ในช่วงตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ปริมาณน้ำฝนสะสมมีแนวโน้มต่ำกว่าปกติ ขณะที่ฤดูฝนปี 2566 ก็มีความล่าช้าออกไป ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเริ่มปลูกข้าวได้ตามช่วงเวลาที่เคยเป็น และทำให้เกษตรกรที่อยู่ในเขตปลูกข้าวพื้นที่ราบสูงที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยลง เช่น ข้าวโพด เป็นต้น

จากสถานการณ์และแนวโน้มดังกล่าวทำให้อินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2565 ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซีย 91,714 ตัน เป็นมูลค่า 42.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,511.55 ล้านบาท) มูลค่าการส่งออกไปอินโดนีเซียคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.06 ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทยทั้งหมดและอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับที่ 20 ของไทย สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) การส่งออกข้าวไทยไปยังอินโดนีเซียมีปริมาณสูงถึง 1,057,537 ตัน คิดเป็นมูลค่า 523.45 ล้านเหรียญสหรัฐ (18,035.56 ล้านบาท) มูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.19

ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 ทำให้ปัจจุบันอินโดนีเซียกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย โดยข้าวที่ส่งออกไปอินโดนีเซียส่วนใหญ่ คือ ข้าวขาว 5 – 10%

สำหรับภาพรวมการส่งออกข้าวของไทย ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) มีปริมาณการส่งออกรวม 6,922,649 ตัน ปริมาณข้าวส่งออกขยายตัวร้อยละ 11.4เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 3,967.31 ล้านเหรียญสหรัฐ (136,289.84 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 24.7 ตลาดส่งออกข้าวของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 13.19 ของมูลค่าการส่งออกข้าวของไทย (2) สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 13.03 (3) แอฟริกาใต้ สัดส่วนร้อยละ 10.47 (4) อิรัก ร้อยละ 9.38 และ (5) จีน ร้อยละ 4.41 ตามลำดับ

นายนภินทร กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันความต้องการข้าวจากประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ผลผลิตข้าวลดลง และการให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เกิดความพยายามในการนำเข้าเพื่อสำรองปริมาณข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ รวมทั้งการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย และเมียนมา จึงถือเป็นโอกาสที่จะผลักดันและขยายตลาดส่งออกข้าวไทย ตลอดจนสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ของข้าวไทยให้ผู้บริโภครายใหม่ ๆ ในต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพิ่มความหลากหลาย เน้นให้มีผลผลิตต่อไร่สูง ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับข้าวไทย และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อาทิ ข้าวพื้นนุ่ม ขณะเดียวกันเกษตรกรควรเตรียมความพร้อมหาแนวทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ การปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อย ทำนาแบบยั่งยืนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งต้องติดตามมาตรการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเพาะปลูก เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญให้ได้มากที่สุด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์ขึ้นทะเบียน 'ทุเรียนบางนรา' สินค้า GI ตัวใหม่

“พาณิชย์” เดินหน้าสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)“ทุเรียนบางนรา” ของจังหวัดนราธิวาส เนื้อละเอียด รสชาติหวานมันกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย จนเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ส่อง 9 เดือน ราคาข้าวสดใส ส่งออก 7 เดือนเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาและการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้ว่า มีทิศทางที่ดี โดยราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้มีการขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง