'กนง.' คงดอกเบี้ย 2.50% ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตดันจีดีพีปี 67 อย่างมากโตแค่ 3.8%

“กนง.” มติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี พร้อมหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.4% ส่วนปี 2567 มองดิจิทัลวอลเล็ตดันเศรษฐกิจโตแค่ 3.8% แจงมาตรการมาช้ากว่าคาด-รูปแบบและปริมาณเงินเปลี่ยน

30 พ.ย. 2566 – นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ภาคการส่งออกและการผลิตที่เกี่ยวข้องชะลอลง

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันเหมาะสมกับบริบทที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ เอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน อีกทั้งช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงเหลือ 2.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.8% และปี 2567 กรณีไม่รวมผลของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท จะขยายตัวที่ 3.2% และกรณีที่รวมผลของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท จะขยายตัวที่ 3.8% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.4% โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น

ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ในระยะต่อไปเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว แต่มีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่าที่คาดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป

“ในปี 2567 คาดว่าส่งออกจะกลับมาเป็นแรงส่งควบคู่กับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนก็ยังฟื้นตัวต่อไป ขณะที่ตัวเลขจีดีพี กรณีที่รวมผลของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต เหลือ 3.8% จากเดิมที่คาดจะโต 4.4% นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงื่อนเวลาที่มาช้ากว่าที่ตั้งสมมุติฐาน รวมถึงรูปแบบและปริมาณเม็ดเงินที่เปลี่ยนไป ขณะที่ปี 2568 มองว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ราว 3% บวกลบ ซึ่งใกล้เคียงกับศักยภาพ” นายปิติ กล่าว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.3% และ 2.0% ในปี 2567 โดยหากรวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.2% ลดลงจาก 2.6% จากประมาณการครั้งก่อน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังไม่รวมผลของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ในปีนี้จะอยู่ที่ 1.3% และ 1.2 ในปี 2567 โดยยังต้องติดตามความเสี่ยงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น

“แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังกลับมาไม่ครบ แต่ทิศทางการฟื้นตัวยังชัดเจน โดยแรงผลักดันหลัก ๆ ของการฟื้นตัวคือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามา แต่ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนมาน้อยกว่าที่คาดในระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งในระยะยาวอาจมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนอาจจะเข้ามาน้อยกว่า แต่ก็เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาติอื่นเข้ามาทดแทนได้” นายปิติ กล่าว

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปนั้น กนง. มองในหลายภาพแล้วทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งเห็นว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% น่าจะรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง และการชั่งน้ำหนักความเสี่ยงค่อนข้างสมดุล โดย ณ ตอนนี้ถ้าภาพเศรษฐกิจพื้นฐานยังเป็นไปอย่างที่มองไว้ แม้ว่าจะมีการปรับลดจีดีพีและเงินเฟ้อ แต่ในแง่แนวโน้มหลักไม่ได้เปลี่ยนไป แนวนโยบายการเงินที่ขึ้นมาถึงจุดนี้จึงถือว่ารองรับได้ในหลายสถานการณ์ ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจระยะข้าวหน้า ภาพรวมประเทศไทยถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะกระบวนการของการลดเงินเฟ้อเดินมาไกลเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่เงินเฟ้อยังค้างอยู่ 4-5% เป็นเหตุผลที่ทำให้แนวนโยบายของ กนง. ไม่จำเป็นต้องกระชากไปแรงมาก และในอนาคตแง่การขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้อาจจะซอฟท์กว่าที่มองไว้ แต่ข้างหน้าการกลับมาของส่งออกจะเป็นสิ่งที่ดี และเงินเฟ้อที่แนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย จึงมองว่า วันนี้จุดยืนนโยบายการเงินเหมาะสมและเป็นอย่างนั้น

“การจะตีความว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่วิกฤติ อยากเรียนว่าปัจจุบันภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้จริง ๆ ส่วนคำถามเกี่ยวกับความจำเป็นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ในการดำเนินนโยบายของ กนง. จะมองภาพระยะปานกลาง ดังนั้นอะไรที่มาในระยะไม่ได้อยู่ยั่งยืน มากระตุ้นพวก พวกนี้ถือว่ายังสามารถรองรับด้วยนโยบายปัจจุบันได้ ซึ่งหากมอง ณ ตอนนี้จากข้อมูลที่มีชัดเจน นโยบายปัจจุบันยังรองรับความเสี่ยงได้ และเป็นความเสี่ยงที่ กนง. ได้นำมาพิจารณาในเฮดไลน์อยู่แล้ว” นายปิติ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง