สนค. เผยปรับค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มาก และเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
27 พ.ย. 2566 - นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยการวิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม อีกทั้งมีข้อจำกัดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการลดต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้น ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้อย่างจำกัด ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป
ปัจจุบัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ทั้งนี้ในการปรับอัตราค่าจ้างแต่ละครั้งจะคำนึงถึงหลายปัจจัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 อาทิ ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นอัตราตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราอยู่ระหว่าง 328 – 354 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 337 บาทต่อวันและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราใหม่ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2567
แน่นอนว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว ขณะเดียวกันจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ และนำไปสู่การสูงขึ้นของภาวะเงินเฟ้อได้ สนค. จึงดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นโดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และจำนวนผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งประมวลข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและกระทรวงแรงงาน โดยหากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม (โดยเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน) ในอัตราระหว่างร้อยละ 5 หรือ 353.85 บาทต่อวัน และร้อยละ 10 หรือ 370.70 บาทต่อวันจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตและบริการในภาพรวม ดังนี้
ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมาก คือกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนรวมทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มสาขาการเกษตร อาทิ 1) การเพาะปลูกยางพารา 2) การเพาะปลูกอ้อย 3) การทำสวนมะพร้าว 4) การทำไร่ข้าวโพด 5) การทำไร่มันสำปะหลัง 6) การปลูกพืชผัก และ 7) การทำนา และกลุ่มสาขาบริการ อาทิ 1) การศึกษา 2) การค้าปลีก 3) การค้าส่ง 4) บริการทางการแพทย์ และ 5) การบริการส่วนบุคคล (การซักรีด การตัดผม เสริมสวย) โดยต้นทุนจะเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 0.12 – 7.75
ขณะที่ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบน้อย คือกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานค่อนข้างต่ำในกลุ่มสาขาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต อาทิ 1) โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 2) อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 3) การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยุ โทรทัศน์ และการคมนาคม 4) การผลิตก๊าซธรรมชาติ และ 5) การผลิตยานยนต์ โดยต้นทุนจะเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 0.03 – 0.65
ทั้งนี้การปรับค่าจ้างในอัตราข้างต้นจะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 0.41 – 1.77 การเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิตและบริการ ส่งผลต่อสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งในภาพรวมระดับราคาเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 0.27 – 1.04 สำหรับสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป ข้าว การสื่อสาร ผักสด และผลไม้สด เนื่องจากมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ และเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่ใช้แรงงานค่อนข้างเข้มข้น อาทิ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป อยู่ในภาคการผลิตภัตตาคารและร้านขายเครื่องดื่ม ข้าว อยู่ในภาคการทำนา การสื่อสารอยู่ในภาคการผลิตบริการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ และการสื่อสาร และผักสด อยู่ในภาคการผลิตการปลูกพืชผัก
โดยสรุป การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิม (โดยเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน) ตั้งแต่ร้อยละ 5 - 10 จึงส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนี้
1) กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 หรือ 353.85 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 ทั้งนี้หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.88และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.52
2) กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือ 370.70 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.82 และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.55 ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.77 และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.04
อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านต้นทุนค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมดไปยังราคาสินค้าและบริการเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม อีกทั้งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยหลาย อาทิ ภาวะการแข่งขันทางการค้า รสนิยมและกำลังซื้อของผู้บริโภคและสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับบ่อยครั้งรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการทั้งด้านพลังงาน (ลดค่ากระแสไฟฟ้า ราคาน้ำมันดีเซล) และภาษี และเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการมีวิธีบริหารจัดการในหลายรูปแบบ อาทิ การกำหนดนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง สวัสดิการ ผลตอบแทน และโบนัสภายในองค์กร การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับค่าจ้าง การลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องจักรเพิ่มเพื่อทดแทนแรงงานคน ดังนั้น แม้ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้ แต่การปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าวจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย สร้างความเป็นธรรมให้ระบบการจ้างงาน และสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป
นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งสนับสนุนการอุปโภค-บริโภคภาคครัวเรือน ให้อุปสงค์ภายในประเทศมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นระดับที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้และไม่ส่งผลต่อภาวะการมีงานทำของผู้ใช้แรงงาน โดยภาครัฐอาจพิจารณาสนับสนุนแนวทางการปรับตัวและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องจักร เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการผลิตและจ้างงาน ตลอดจนดำเนินมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ เพื่อบรรเทาผลกระทบของค่าจ้างต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อ สำหรับกระทรวงพาณิชย์ นอกจากจะกำกับดูแลสถานการณ์จำหน่ายสินค้าและบริการอย่างใกล้ชิด ให้ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องต้นทุนที่แท้จริงแล้ว ยังดำเนินกิจกรรมเชิงรุก ทั้งการพัฒนาความสามารถผู้ประกอบการ การอำนวยความสะดวกและแก้ไขอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมการค้า ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ การจ้างงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกระดับให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พาณิชย์เผยดัชนีค่าขนส่งสินค้าทางถนน Q4 ขยับขึ้น
ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 4 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยขณะที่อุทกภัยกระทบต่อธุรกิจการขนส่งสินค้าทางถนนไม่มาก
ข่าวดี ส่งออกไทย ต.ค.พุ่ง 14.6% มูลค่าแตะ 2.7 หมื่นล้านดอลล์
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย
พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อไทยไทยต่ำเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้มีการติดตามข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศดังกล่าวเนื่องจากเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย
พาณิชย์ ยอมรับภาพรวมค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ปรับเพิ่มสูงขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 หลังจากที่ชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 และปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2566
สนค. ชี้บริการ OTT เติบโต แนะผู้ประกอบการช่วยขยายโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้า
สนค. ติดตามสถานการณ์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลที่ส่งผลต่อโอกาส ทางการค้าสินค้าอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ พบบริการ OTT เติบโต สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้ความนิยมสื่อออนไลน์หรือผ่านแพลตฟอร์ม OTT เพิ่มขึ้น ช่วยขยายโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าและบริการไทย
'พาณิชย์' เตรียมให้ความรู้ SME ไทย เต็มสูบผ่าน คิดค้า.com
”ภูมิธรรม“ หนุนคนตัวเล็ก SME ไทย ปรับตัวรับโลกเปลี่ยน ค้นหาจุดแข็ง สร้างแต้มต่อ เพิ่ม GDP ผ่าน คิดค้า.com